ผลงานด้านตลาดทุน

ด้านการเชื่อมโยงตลาดทุนไทยกับต่างประเทศ

1. ผลักดันตลาดทุนไทยให้มีบทบาทเป็นที่ยอมรับในเวที ก.ล.ต. นานาชาติ (IOSCO) จนได้รับเลือกเป็นประธาน Asia Pacific Regional Committee สองสมัยติดกัน (ปี พ.ศ. 2548 ถึง 2549) และได้ร่วมเป็น committee member ใน IOSCO Executive Committee มีบทบาทเป็นกระบอกเสียงให้ประเทศกำลังพัฒนาในการสื่อสารความคิดเห็นจากมุมมองของประเทศในกลุ่ม Emerging Markets

2. ผลักดันให้เกิดความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมระหว่างตลาดทุนใน ASEAN เป็นผู้นำในการจัดตั้ง ASEAN Capital Markets Forum (ACMF) ผลักดันให้เกิด Implementation Plan ซึ่งเป็นแผนเพื่อการรวมตลาดทุน ASEAN (เป้าหมายสำเร็จในปี พ.ศ. 2558) เนื่องจากได้ตระหนักถึงแนวโน้มการแข่งขันในตลาดทุนโลกที่นับวันจะยิ่งเข้มข้นขึ้น และตลาดทุนขนาดเล็กจะอยู่โดยลำพังได้ลำบาก เพราะขนาดจะเล็กลงไปเรื่อย ๆ
3. เปิดให้ผู้ลงทุนไทยสามารถลงทุนในต่างประเทศได้มากขึ้น โดยประสานงานกับธนาคารแห่งประเทศไทยขยายวงเงินการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศตามลำดับ ณ ปัจจุบันได้รับอนุมัติวงเงิน 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ พร้อมไปกับผ่อนคลายหลักเกณฑ์การลงทุนให้แก่บริษัทหลักทรัพย์ ธุรกิจจัดการกองทุนรวม กองทุนส่วนบุคคล และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รวมถึงผู้ลงทุนทั่วไป
4. เปิดให้สินค้าต่างประเทศเข้ามาขายในไทยได้มากขึ้น อย่างค่อยเป็นค่อยไป และในรูปแบบต่างๆ เช่น foreign ETF ซึ่งเริ่มจากผ่านตัวกลางในประเทศก่อน และ foreign listing ซึ่งเริ่มจาก secondary listing ก่อน หลังจากนี้จะขยายไปถึง primary listing

ด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของตลาดทุนไทย

1. ปรับปรุงโครงสร้างของ ก.ล.ต. โดยให้มีคณะกรรมการกำกับตลาดทุนเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคณะ เพื่อให้ทำหน้าที่ออกประกาศหลักเกณฑ์การกำกับดูแล และโดยที่คณะกรรมการดังกล่าวประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์ในธุรกิจหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียนถึง 3 คน (จากทั้งหมด 7 คน) ทำให้หลักเกณฑ์ที่ออกมาบังคับใช้มีความเป็นมาตรฐานสากลและสอดคล้องกับการปฏิบัติอย่างแท้จริง

2. ประกาศนโยบายเปิดเสรีใบอนุญาตหลักทรัพย์และเปิดเสรีค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์ (เปิดเสรีเต็มที่ในปี พ.ศ. 2555) เพื่อให้เกิดการแข่งขันซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ลงทุนและความแข็งแกร่งของบริษัทหลักทรัพย์ต่อตลาดทุนไทยในอนาคต
3. ผลักดันและสนับสนุนการแปรสภาพตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้เป็นบริษัทมหาชนจำกัด และกระจายหุ้นต่อประชาชน เพื่อให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีโครงสร้างการถือหุ้นที่ชัดเจน เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและเชื่อมโยงกับตลาดหลักทรัพย์อื่น ขจัดการผูกขาดในธุรกิจตลาดหลักทรัพย์
4. ผ่อนคลายกฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคในการทำธุรกิจและการแข่งขันในธุรกิจหลักทรัพย์ ทำหลักเกณฑ์ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นหลายเรื่อง เช่น การอนุญาตให้ทำธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง การลงทุนโดยพอร์ตของบริษัท การปรับและขยายเวลาทำการ และการเปิดสาขา เป็นต้น และมีแนวคิดที่จะให้มีการอนุมัติการเสนอขายกองทุนรวมแบบอัตโนมัติ
5. สร้างโครงสร้างพื้นฐานรองรับการประกอบธุรกิจและการบริหารความเสี่ยงของผู้ประกอบธุรกิจและผู้ลงทุน ได้แก่ การเปิดตลาดอนุพันธ์ (TFEX) เมื่อปี 2549 การจัดโครงสร้างตลาดตราสารหนี้ให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีบทบาทหลักในด้านระบบซื้อขายและให้ สมาคม Thai BMAทำหน้าที่เป็น SRO และ pricing agency รวมทั้งผลักดันให้ TSD เป็นศูนย์กลางในเรื่องการทำระบบรองรับธุรกรรม securities borrowing and lending
6. พัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศ โดยปรับปรุงกฎเกณฑ์ให้การออกและเสนอขายของภาคเอกชนทำได้ ง่ายขึ้น-เร็วขึ้น-ถูกลง ด้วยระบบ shelf filing และอนุญาตเป็นการทั่วไปสำหรับการเสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุน high net worth และลดระยะเวลาและขั้นตอน filing การเสนอขายตราสารหนี้โดยรวม ยอมรับ rating ของ international credit rating agency สำหรับผู้ออกบางประเภท นอกจากนี้ จะอนุญาตให้มีการออกหุ้นกู้สกุลเงินต่างประเทศได้ด้วย
7. ผลักดันให้มีการเพิ่มสินค้าประเภทใหม่ในตลาดทุน ทำให้ผู้ลงทุนมีทางเลือกในการลงทุนและสามารถบริหารความเสี่ยงได้ดียิ่งขึ้น และตลาดทุนโดยรวมมีความน่าสนใจ เช่น SET 50 ETF, single stock futures, gold futures และที่กำลังจะออกต่อไปคือ infrastructure fund, SUKUK, interest rate futures, venture capital, gold ETF, FX bond
8. เปิดให้ร้านค้าทองคำขอรับใบอนุญาตในการเป็นตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงทองคำ ซึ่งทำให้ผู้ลงทุนมีช่องทางการลงทุนมากขึ้น
9. นำหลักการของทรัสต์มาใช้ในธุรกรรมในตลาดทุน โดยเปิดให้มีการขออนุญาตประกอบธุรกิจทรัสตีและให้ใบทรัสต์เป็นหลักทรัพย์ประเภทหนึ่ง ทั้งนี้ หลักการของทรัสต์จะช่วยเป็นเครื่องมือในการพัฒนาสินค้าใหม่ในตลาดทุนเพิ่มเติมอีก
10. สนับสนุนให้สมาคมผู้ประกอบธุรกิจในตลาดทุนแสดงบทบาทของ Self Regulating Organization (SRO) เพื่อทำหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจและกำกับดูแลสมาชิกของตน ซึ่งจะช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ภาคธุรกิจ และหลักเกณฑ์ที่ออกมาจะสอดคล้องกับการปฏิบัติยิ่งขึ้น รวมทั้งริเริ่มให้มีการประชุมกับสมาคมต่างๆ ในตลาดทุนเป็นประจำทุกไตรมาสเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และรับฟังปัญหา อุปสรรคและข้อเสนอแนะ
11. ให้ความสำคัญอย่างมากในการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องสำหรับการกำหนดหลักเกณฑ์การกำกับดูแล เพื่อให้หลักเกณฑ์ที่ออกมาสามารถปฏิบัติได้ผลจริง และไม่เป็นอุปสรรคหรือภาระแก่ภาคธุรกิจมากเกินควร

ด้านการกำกับดูแลและส่งเสริมบรรษัทภิบาลและการคุ้มครองผู้ลงทุน

1. นำตลาดทุนไทย โครงสร้าง และกฎเกณฑ์การกำกับดูแลเข้ารับการประเมินในโครงการ CG Report on the Observance of Standards and Codes ซึ่งเป็นการประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้านบรรษัทภิบาลของ World Bank (ปี พ.ศ. 2547 - 2548) เพื่อให้ผู้ลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศมั่นใจถึงบรรษัทภิบาลของตลาดทุนไทย โดยภาพรวมผลการประเมินของประเทศไทยสอบผ่านมาตรฐานสากลและอยู่ในระดับน่าพอใจเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชีย
2. เข้าร่วมโครงการ Financial Sector Assessment Program (FSAP) ของ World Bank และ (International Monetary Fund: IMF) (ปี พ.ศ. 2550 ) ซึ่งผลการประเมินในส่วนของกระบวนการทำงานและระบบงานของ ก.ล.ต. สรุปว่ามีประสิทธิภาพ มีความรัดกุมและน่าเชื่อถือ ในระดับมาตรฐานสากล สำหรับส่วนที่ได้รับคำแนะนำให้ปรับปรุง ได้แก่ อำนาจการบังคับใช้กฎหมาย ความเป็นอิสระของ ก.ล.ต. การเปิดเสรีใบอนุญาตธุรกิจหลักทรัพย์ (ให้เร็วขึ้นกว่าที่ประกาศไว้) การประสานงานกับหน่วยงานทางการอื่นภายในประเทศ และการปกป้องดูแลทรัพย์สินของลูกค้า ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับการปรับปรุงแก้ไขในเวลาต่อมา
3. แก้ไขกฎหมายหลักทรัพย์ในประเด็นที่มาตรฐานของ ก.ล.ต. ยังหย่อนไปจากมาตรฐานสากล โดยมีเรื่องสำคัญได้แก่ การคุ้มครองสิทธิและเพิ่มสิทธิของผู้ถือหุ้นในการฟ้องร้องกรรมการบริษัทแทนบริษัทเพื่อเรียกคืนประโยชน์คืนแก่บริษัท การคุ้มครองทรัพย์สินลูกค้าและหลักเกณฑ์เกี่ยวกับระบบชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ให้รัดกุมยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ได้นำเสนอและผลักดันการออกกฎหมายการฟ้องคดีแบบกลุ่ม (class action) เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถฟ้องร้องผู้กระทำผิดให้ชดใช้ค่าเสียหายได้
4. ป้องปรามการทุจริตหรือการเอาเปรียบผู้ถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียนโดย (1) ยกระดับการกำกับดูแลผ่านการจัดทำบัญชีของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียน และการทำหน้าที่ตรวจสอบบัญชีของผู้สอบบัญชี โดยดูแลให้มีการปฏิบัติตามมาตรฐานบัญชีและมาตรฐานการสอบบัญชีอย่างเข้มงวด และ (2) ดูแลการทำรายการที่เกี่ยวโยงกันและการซื้อขายทรัพย์สินขนาดใหญ่ของบริษัทจดทะเบียนให้มีความโปร่งใส ไม่เป็นช่องทางในการยักยอกทรัพย์สินออกจากบริษัท
5. เร่งรัดการปรับปรุงมาตรฐานบัญชีให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล International Financial report Standards: IFRS เพื่อให้งบการเงินของบริษัทจดทะเบียนในประเทศไทยมีความน่าเชื่อถือในสายตาของต่างชาติและสามารถเปรียบเทียบกันได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการลงทุนของผู้ลงทุนและการระดมทุนของบริษัทจดทะเบียนในการเสนอขายหรือจดทะเบียนในต่างประเทศ
6. จัดตั้งคณะทำงานเพื่อติดตามความเคลื่อนไหวในการยกร่างมาตรฐานบัญชีสากลของ International Accounting Standard Board เพื่อกระจายข้อมูลดังกล่าวแก่ภาคเอกชน และหน่วยงานของทางการเพื่อให้มีเวลาเตรียมตัวล่วงหน้า และจัดทำคำวิจารณ์และข้อเสนอแนะแก่การยกร่างมาตรฐานดังกล่าวเป็นประจำ
7. ยกระดับคุณภาพการจัดประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี (Annual General Meeting: AGM) ของบริษัทจดทะเบียนเพื่อประโยชน์ของผู้ถือหุ้นเป็นสำคัญ และ ส่งผลให้คุณภาพของAGM ตั้งแต่ปี 2550 ดีขึ้น
8. ริเริ่มให้มีการเปิดเผยรายชื่อหลักทรัพย์ที่มีการซื้อขายร้อนแรงโดยไม่มีปัจจัยพื้นฐานรองรับ หรือ turnover list เพื่อให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลในการตัดสินใจลงทุนมากขึ้น และบริษัทหลักทรัพย์สามารถใช้ข้อมูลดังกล่าวประกอบการปล่อยมาร์จิ้นให้แก่ลูกค้า ทำให้สามารถบริหารความเสี่ยงในการทำธุรกิจได้ดีขึ้น
9. ออกมาตรการในการป้องปรามการปั่นหุ้น โดยบริษัทหลักทรัพย์ต้องมีระเบียบในการควบคุมพนักงานในเรื่องนี้อย่างเข้มงวด และบริษัทหลักทรัพย์ต้องร่วมรับผิดชอบหากพนักงานของบริษัทมีส่วนร่วมในการปั่นหุ้น

ด้านการบังคับใช้กฎหมาย

1. เพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการบังคับใช้กฎหมาย โดยการประสานงานกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) อย่างใกล้ชิด เช่น เข้าร่วมเป็น co-investigator ในกรณีที่ ก.ล.ต. กล่าวโทษ และทำ MoU กับ DSI เพื่อประโยชน์ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน รวมถึงจัดสัมมนาร่วมกับศาลและอัยการเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินคดีตามกฎหมายหลักทรัพย์ เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิผลยิ่งขึ้น
2. กำหนดหลักเกณฑ์ให้บริษัทหลักทรัพย์และบริษัทจัดการลงทุนต้องมีระบบป้องกันมิให้ตนเองถูกใช้เป็นช่องทางในการฟอกเงิน
3. แก้ไขกฎหมายเพิ่มการดำเนินคดีทางแพ่ง (civil sanction) เพิ่มเติมจากการดำเนินคดีทางอาญาที่มีอยู่เดิม เพื่อให้การดำเนินการกับผู้กระทำผิดกฎหมายหลักทรัพย์สัมฤทธิ์ผลมากขึ้น