วันศุกร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ASEAN Brand การเชื่อมโยงตลาดทุนในภูมิภาค ASEAN ตอน 2

ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคได้ตั้งเป้าหมายร่วมกันที่จะรวมตลาดทุนในอาเซียน ซึ่งมีขั้นตอนที่จะดำเนินการหลายประการ ประการแรกจะทำให้ ASEAN เป็น brand เดียว หรือการสร้าง ASEAN brand จากเดิมคนอาจจะนึกถึงประเทศสิงคโปร์ ประเทศมาเลเซีย หรือนึกถึงประเทศไทยเดี่ยว ๆ แต่ต่อไปเราอยากให้เขานึกถึงเราในฐานะ ASEAN แทน

แต่ว่า ASEAN brand ต้องเป็น “World Class” ซึ่งหมายความว่าเราจะต้องทำให้กฎระเบียบ วิธีการปฏิบัติงาน การบริหารบริษัทจดทะเบียนใน ASEAN เป็นระดับมาตรฐานสากล เราต้องพยายามทำให้ทุกคนมีความสบายใจว่า เวลาเอาเงินมาลงทุนใน ASEAN มันจะเป็น “World Class”

อีกประการหนึ่ง เรากำลังจะเปิดให้ตลาดหลักทรัพย์ของ ASEAN รวมตัวกันในทางอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวคือ นักลงทุนที่อยู่ต่างประเทศ สามารถสั่งซื้อหุ้นในตลาด ASEAN ด้วยจอคอมพิวเตอร์จอเดียว เรียกว่า มีจุดเข้าถึงตลาดในระบบอิเล็กทรอนิกส์จุดเดียวก็สามารถเข้าได้ทุกตลาด (single point of entry) โดยตลาดหุ้นของไทยจะเป็นผู้นำในการพยายามที่จะปูพื้นตรงนี้

เพราะฉะนั้น สองจุดนี้จะทำให้ ASEAN เป็น brand ซึ่งจะเป็นที่นิยมชมชอบ เป็นที่ยอมรับและรู้จักในตลาดสากลมากขึ้น และอีกประการหนึ่งก็คือ จะทำให้นักลงทุนต่างประเทศเวลาเข้ามาในระบบอิเล็กทรอนิกส์ในตลาด ASEAN นั้นมีความคล่องตัวมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าเราจะรวมกันแล้วก็ตาม เราก็ยังมีขนาดเล็กอยู่ แต่ว่าก็ยังดีกว่าเป็นตลาดเดี่ยว ๆ เพราะเมื่อรวมกันแล้ว เราจะเป็นตลาดที่สามารถประกวดกับอินเดีย หรือจีนได้ชัดเจนมากขึ้น ได้รับความสนใจมากขึ้น

สิ่งสำคัญก็คือ นักลงทุนไทยจะได้ประโยชน์จากการรวมตัวกันดังกล่าว จะเห็นได้ว่าก่อนหน้านี้นักลงทุนไทยมีโอกาสน้อยที่จะนำเงินไปลงทุนต่างประเทศโดยตรง แต่สภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถที่จะผ่อนคลายกฎระเบียบให้นำเงินออกไปลงทุนได้มากขึ้นแล้ว

ในปัจจุบันเรากำลังพยายามปูพื้นให้นักลงทุนของไทยได้ทราบความเคลื่อนไหว และความเป็นไปในตลาดใน ASEAN มากขึ้น ซึ่งน่าจะทำให้เขามีความสบายใจในการที่จะเอาเงินไปลงทุนในตลาดทุน ASEAN ในระยะต่อไปได้ ทั้งในแง่ไปซื้อหุ้นและในแง่ไปซื้อพันธบัตร ไม่ว่าจะเป็นพันธบัตรรัฐบาลในสกุลท้องถิ่นของมาเลเซีย พันธบัตรรัฐบาลของอินโดนีเซีย

เพราะว่าเท่าที่ผ่านมาพอเปิดให้นักลงทุนไทยเอาเงินออกไปลงทุน จะสังเกตว่าเขานำไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลของเกาหลีจำนวนมาก ดังนั้น พันธบัตรรัฐบาลของ ASEAN ก็น่าจะอยู่ในฐานะที่แข่งขันได้ดี

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนในประเทศไทยควรจะต้องเริ่มเตรียมตัวไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ ตั้งแต่ติดตามภาวะเศรษฐกิจไม่ใช่เฉพาะของไทย แต่ควรจะมองภาวะเศรษฐกิจในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงทางด้านการเมืองของประเทศหลัก ๆ ใน ASEAN ด้วย เพื่อจะได้รู้ถึงโอกาสและความเสี่ยง

ขณะเดียวกันนั้น ในระยะต่อไป น่าจะมีกองทุนรวมซึ่งจะมีการลงทุนกว้างขวางมากขึ้นในกลุ่ม ASEAN ซึ่งอาจจะออกสินค้ามาขายในเมืองไทยได้ ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่นักลงทุนไทยควรจะเริ่มศึกษาและก็เตรียมตัวไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ

ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้เตรียมการสำหรับการรวมตลาดทุน ASEAN โดยปรับกฎระเบียบให้เป็นมาตรฐานเดียวและเป็นมาตรฐานสากล ซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควร เพราะว่าที่ผ่านมานั้น ถึงแม้ว่าแต่ละประเทศจะมีตลาดทุนของตัวเอง อาจจะมีทั้งตลาดหุ้น ตลาดพันธบัตรรัฐบาล ตลาดหุ้นกู้เอกชน แต่ว่าวิธีปฏิบัติกฎระเบียบ พอลงไปในรายละเอียดแล้วจุกจิก และค่อนข้างแตกต่างกันอยู่หลายจุด

ถ้าหากว่า เราเห็นว่า บางกรณีสิ่งที่ปฏิบัติแตกต่างกันไม่มาก แล้วก็เป็นมาตรฐานสากลอยู่แล้ว เราก็จะยอมรับมาตรฐานซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้นต่อไปถ้าเป็นหลักทรัพย์ซึ่งประเทศที่ 1 อนุญาต ประเทศที่ 2 อาจจะถือว่ามีฟรีพาสปอร์ต เราก็เอาไปขายในประเทศที่ 2 หรือประเทศที่ 3 ได้เลย ซึ่ง ก.ล.ต. จะมีบทบาทหลักในการประสานเรื่องนี้

ในขณะเดียวกัน เรากำลังจะเตรียมปูพื้นให้บุคคลที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะพวกตัวกลางทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นตลาดหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทจัดการกองทุนรวม สามารถที่จะปรับตัวเพื่อที่จะใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ หรือจะป้องกันตัวเองจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ได้เต็มที่

ซึ่งบริษัทหลักทรัพย์ได้ตื่นตัวและเตรียมพร้อม บางรายมีการเจรจาจะควบรวมกัน บางรายก็พยายามจะหาหุ้นส่วน ซึ่งเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์จากต่างประเทศ เพราะเขามองเห็นแล้วว่าในการทำธุรกิจระยะต่อไปนั้นมันจะต้องเชื่อมโยงกับต่างประเทศมากขึ้น เพราะฉะนั้น การที่จะเข้ามาทำธุรกิจแล้วก็ทุกอย่างเหมือนเดิมนั้น จะอยู่ได้ยาก เวลานี้กระบวนการตัวกลางในพวกบริษัทหลักทรัพย์ของไทย จะเห็นว่าเริ่มมีการขยับขยาย เริ่มวางแผนที่จะมีการปรับตัวกันแล้ว

วันพุธที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ตลาดทุนไทยต้องแข่งขันได้ในเวทีโลก

(การเชื่อมโยงตลาดทุนในภูมิภาค ASEAN ตอนที่ 1)
หลายท่านอาจสงสัยว่าทำไมตลาดทุนไทยจึงต้องแข่งขันกับตลาดทุนอื่นในโลก นั่นเป็นเพราะตลาดทุนเชื่อมโยงกันด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลก ตลาดทุนจึงถึงกันโดยอัตโนมัติ ไม่ว่าจะอยู่ที่ตรงไหน ตลาดทุนจึงแข่งกันทั่วโลก

ตลาดทุนไม่เหมือนกับตลาดการเงิน ไม่เหมือนการแข่งขันของธนาคารพาณิชย์ เพราะถ้าธนาคารพาณิชย์จะแข่งขันกันข้ามประเทศ เขาจะต้องมาตั้งสำนักงานหรืออย่างน้อยก็ต้องส่งคนหิ้วกระเป๋าเข้ามาติดต่อ มาทำธุรกิจกัน

ตัวที่ป้องกันตลาดบางตลาดอย่างตลาดทุนของไทยไม่ให้คนอื่นเข้ามาแข่งขันมากเกินไป ก็คือ การควบคุมปริวรรตเงินตรา (Exchange Control) ของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นกำแพงแก้ว ช่วยคุ้มครองปกป้องตลาดทุนของไทยอยู่ระดับหนึ่ง แต่กำแพงแก้วนี้ลดระดับลงไปเรื่อย ๆ กล่าวคือกฎระเบียบนี้เริ่มผ่อนคลายไปเรื่อย ๆ

ถ้าตลาดทุนของไทยไม่ปรับตัวตั้งแต่ตอนนี้ ผมว่าโอกาสที่จะเข้าไปแข่งขันในตลาดโลกก็จะยากขึ้น



การที่จะเป็นผู้ชนะและอยู่รอดจากการแข่งขันได้นั้น ต้องมองสองทาง ทางหนึ่งคือในฝั่งเงินไหลเข้า เราจะต้องทำตัวให้น่านิยม เนื่องจากว่าเราจะต้องไปแข่งขันกับคนที่เขามีเงิน กำเงินอยู่ทั่วโลก คู่แข่งของเราก็คือตลาดทุนทั่วโลกด้วยเช่นกัน

เพราะฉะนั้นวิธีการที่จะทำให้ตัวเองนั้นมีความน่านิยม นั่นคือ ต้องทำให้สินค้ามีมาตรฐานดี ต้องทำให้การดำเนินการในตลาดของเรามีกฎระเบียบที่ดี ซึ่งตรงนี้เราก็ทำของเรามาระดับหนึ่งแล้ว

ปัญหาของเราคืออยู่ตรงที่ว่า ต่อให้เราทำเต็มที่ยังไงก็ตาม ตลาดของไทยโดยตัวเองมันเล็ก เนื่องจากเราเป็นคนตัวเล็ก เราจะไปเบ่งตัวให้มันใหญ่ขึ้น ไปเท่ากับจีน เท่ากับอินเดีย มันก็เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อถึงจุดหนึ่ง เราจะพบว่าถ้าเราจะพยายามแข่งขันกับตลาดโลกด้วยลำพังตัวเองมันจะยาก

ดังนั้น วิธีการที่เราจะแข่งขันได้ง่ายขึ้นก็คือไปจับมือเป็นกลุ่มเป็นก้อน เวลานี้เป้าหมายตั้งต้นที่เป็นไปได้มากที่สุดคือจับมือเป็นกลุ่มกันภายในกลุ่ม ASEAN ด้วยเหตุนี้ ก.ล.ต. ใน ASEAN จึงได้มาร่วมกันทำแผนเชื่อมโยงตลาดทุนใน ASEAN และได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของ ASEAN เมื่อ พ.ศ. 2552 ที่พัทยา ซึ่งมีท่านรัฐมนตรีกรณ์ จาติกวณิช เป็นประธาน

ท่านผู้นำได้ประกาศนโยบายที่จะรวม ASEAN เข้ามา ภายในปี ค.ศ. 2015 เรียกว่าเป็น “เขตเศรษฐกิจ” ที่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่อเนื่องกันมากขึ้น ซึ่งตรงนี้เป็นเป้าหมายที่เดิมกำหนดไว้สำหรับการค้าสินค้าและบริการ แต่ว่าดูไปแล้ว ถ้าเราจะมีการค้าสินค้าและบริการมากขึ้น ทั้งในแง่ของการเงินก็ดี ของตลาดทุนก็ดี มันจะเชื่อมโยงกันมากขึ้น

ณ เวลานี้ตลาดทุน ASEAN มีแผนชัดเจนที่จะเชื่อมโยง และเดินหน้าไปอย่างต่อเนื่องจากนี้ไปอีก 6-7 ปี

วันอังคารที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ความท้าทายในการบริหารความเสี่ยงระยะต่อไป

(กล่าวในงาน “Challenges on Risk Management in the Future” จัดโดยสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย 16 กุมภาพันธ์ 2553)
 ภาค 1 วิกฤตเกิดจากจุดอ่อนของระบบกำกับดูแลสถาบันการเงินอย่างเดียวจริงหรือ?

ผมเห็นว่ามีหลายปัจจัยที่นำไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเงินโลกที่ผ่านมา แต่ปัจจัยที่สำคัญมากที่สุดคือ “ระบบการกำกับดูแลสถาบันการเงิน” ทั้งในเรื่องกฎเกณฑ์ในเรื่องความเพียงพอของเงินกองทุนที่หย่อนยานเกินไป การกำกับดูแลการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่มีจุดอ่อน และกระบวนการแปลงสินทรัพย์ให้เป็นหลักทรัพย์ (securitization) ที่มีข้อด้อย

หลักเกณฑ์ในด้านความเพียงพอของเงินกองทุนอาจจะสามารถรองรับการปล่อยกู้ของสถาบันการเงิน แต่ไม่เพียงพอสำหรับสถาบันการเงินที่ลงทุนในหลักทรัพย์จำนวนมาก เพราะทรัพย์สินที่เกิดจาก portfolio trading นั้น มีความเสี่ยงสูงกว่าทรัพย์สินประเภทเงินให้กู้

ในสหรัฐฯ ยังมีจุดอ่อนในเรื่องการกำกับดูแลการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย จากการที่เปิดโอกาสให้ลูกหนี้หลายรายกู้เงินโดยใช้บ้านเป็นหลักประกัน เพื่อเพิ่มยอดหนี้ให้สูงขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกจนเกินกำลังการชำระหนี้ รวมทั้งปล่อยให้ลูกค้าสถาบันการเงินสามารถซื้อบ้านเกินกำลัง ทั้งในแง่ซื้อบ้านที่ราคาแพงเกินไป และกู้เงินซื้อบ้านเก็งกำไรหลายหลัง

นอกจากนี้ กระบวนการทำ securitization ยังเป็นการนำลูกหนี้รายย่อยทั้งประเภท prime และ subprime มารวมกันเพื่อเป็นหลักประกันในการออกตราสาร โดยละเลยที่จะทำ due diligence ตามที่ควร ทำให้ไม่ได้ตระหนักถึงจุดเปราะบางของลูกหนี้เหล่านี้

ปัญหาเรื่องจุดอ่อนของระบบการกำกับดูแลสถาบันการเงินนี้ ทางการทั่วโลกกำลังร่วมกันพิจารณาปรับปรุงกฎระเบียบให้เข้มงวดและรัดกุมขึ้นอยู่แล้ว ซึ่งช่วยให้มีความสบายใจได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผมเห็นว่าในระยะต่อไป ยังมีความท้าทายในการบริหารความเสี่ยงที่สืบเนื่องกับวิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนี้อยู่ เพราะปัจจัยที่ทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ ไม่ได้เกิดจากจุดอ่อนในด้านการกำกับดูแลสถาบันการเงินด้านเดียว แต่ปัจจัยที่ใหญ่และสำคัญที่สุดนั้น แท้จริงคือปัจจัยจากเศรษฐกิจมหภาค!

ปัญหาดังกล่าวเกิดจากการที่ประเทศจีนและประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ใช้นโยบายเศรษฐกิจที่เน้นการผลิตเกินกว่าที่ตนเองจะสามารถบริโภคภายในประเทศ และส่งออกส่วนที่ผลิตเกิน ส่งผลให้ประเทศในเอเชียเกินดุลการค้า แต่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้า

ปัญหานี้ขยายใหญ่โตจนกระทั่งสหรัฐฯ ขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้นอย่างมาก และในทางกลับกันประเทศจีนและประเทศอื่นๆ ในเอเชียเกินดุลอย่างมากเช่นกัน ถึงขั้นที่เรียกว่า “Global Imbalance” ซึ่งมีผลต่อเนื่องทำให้ตลาดการเงินบิดเบือน และนำไปสู่ฟองสบู่ขนาดมหึมาในที่สุด!

ต้นเหตุของปัญหาที่เกิดจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจมหภาคนี้ จำเป็นจะต้องได้รับการเปลี่ยนแปลงแก้ไข โดยแทนที่จะเน้นตลาดส่งออก โดยเฉพาะการพึ่งพาตลาดส่งออกสหรัฐฯ เป็นหลัก ประเทศในเอเชียจะต้องกลับมาเน้นการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ หรือการส่งออกเพื่อไปขายแก่ประเทศในภูมิภาคกันเอง

หากนโยบายเช่นนี้เกิดขึ้นแล้วล่ะก็ จะนำไปสู่การเชื่อมโยงระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียมากขึ้น โดยจะขยายจากการค้าสินค้าและบริการ ไปสู่ธุรกิจการเงินและตลาดทุนมากขึ้น ๆ เป็นลำดับ

ภาค 2 การเชื่อมโยงในภูมิภาคเพื่อลด Global Imbalance

ในความเห็นของผมแล้ว การเชื่อมโยงระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียจะเกิดขึ้นได้ ควรมีกระบวนการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นดังนี้

ประการแรก...จีนควรจะเป็นผู้นำประเทศในภูมิภาคที่จะปล่อยค่าเงินให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยให้ค่าเงินหยวนค่อย ๆ แข็งขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะมีผลชะลอการลงทุนขยายกำลังผลิตเพื่อส่งออก และเมื่อจีนปล่อยให้ค่าเงินของตนมีความยืดหยุ่นมากขึ้นแล้ว ประเทศในภูมิภาคซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ supply chain ร่วมกับจีนก็จะสามารถปล่อยค่าเงินของตนให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นได้ด้วย

ประการที่สอง...ประเทศในภูมิภาคควรจะเพิ่มการอุปโภคบริโภคภายในประเทศมากขึ้น ซึ่งการที่จะเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศได้นั้น สมควรจะต้องเปิดให้มีการเจรจาค่าแรงแบบเป็นกลุ่มมากขึ้น ยอมให้ค่าแรงปรับตัวสูงขึ้น เปิดให้คนงานมีกำลังซื้อมากขึ้น ซึ่งจะมีผลนำไปสู่การลงทุนเพื่อพัฒนาธุรกิจที่รองรับการอุปโภคบริโภคภายในมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจด้านการบริการ

ประการที่สาม...ประเทศในภูมิภาคควรจะเร่งรัดการพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เพื่อรองรับการอุปโภคบริโภคให้เร็วขึ้น เพราะการที่จะพัฒนาตลาดภายในประเทศได้นั้น จะต้องมีสถาบันการเงินที่ให้กู้แก่ธุรกิจขนาดเล็ก รวมไปถึงการให้กู้เพื่อการอุปโภคบริโภคแก่ลูกค้ารายย่อย แต่ในบางประเทศ เช่น ประเทศจีน สถาบันการเงินส่วนใหญ่เป็นของรัฐ และเน้นการให้กู้เฉพาะแก่ธุรกิจขนาดใหญ่

ประการที่สี่...ประเทศในภูมิภาคควรจะเร่งการเจรจาเพื่อเปิดตลาดระหว่างกันให้กว้างมากขึ้น ทั้งในด้านการค้าสินค้า และในด้านการค้าบริการ เพื่อจะให้มีตลาดรองรับการผลิตและส่งออกสินค้าแทนสหรัฐฯ และทำให้ธุรกิจในแต่ละประเทศสามารถขยายให้มีขนาดใหญ่เป็น regional champion และพร้อมจะไปแข่งขันในระดับสากลได้ในระยะยาว



ประการที่ห้า...ประเทศในภูมิภาคควรจะเร่งการเชื่อมโยงในด้านการเงินกันให้มากขึ้น ทั้งในด้านตลาดเงิน และตลาดทุน เพื่อจะรองรับการค้าขายระหว่างกันที่จะมีมากขึ้น และทำให้การระดมทุนข้ามชาติในภูมิภาคนี้เกิดขึ้น

สำหรับประเทศที่มีทุนสำรองสูก็ควรจะผ่อนคลายให้ประชาชนรายย่อยนำเงินออกไปลงทุนต่างประเทศให้มากขึ้น และควรจะมีการตั้งเป็นเป้าหมายให้ภูมิภาคนี้มีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการทำธุรกิจการเงินที่สามารถแข่งขันได้กับภูมิภาคอื่น ๆ ของโลกด้วย

ภาค 3 ความเสี่ยงที่ท้าทายจากการเชื่อมโยง

หากการกระบวนการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดเกิดขึ้นเมื่อใด จะทำให้เกิดความเสี่ยงใหม่ ๆ ขึ้นในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ที่อาจจะผันผวนมากขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ความเสี่ยงที่จะต้องบริหารหนี้ภาคครัวเรือนจากการอุปโภคบริโภคใกล้ชิดมากขึ้น ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการที่ผู้บริโภคจะมีการชำระเงินกันด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น

นอกจากนี้ ยังรวมถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการเชื่อมโยงในธุรกิจการเงิน ทั้งในด้านการเรียกร้องระหว่างภาคเอกชนกันเองในทางคดีแพ่ง หรือความยุ่งยากในการลงโทษข้ามพรมแดนในคดีอาญา รวมทั้งเรื่องปัญหามาตรฐานของการปฏิบัติงานในเรื่องต่าง ๆ ซึ่งยังจะต้องมีการหารือและปรับให้เป็นแนวทางเดียวกันมากขึ้น ๆ ด้วย

จึงอาจกล่าวได้ว่าการบริหารความเสี่ยงในสภาวะแวดล้อมใหม่ที่จะเกิดขึ้นนี้ จะมีความท้าทายเป็นอันมากทีเดียว

แต่ถ้าทั้งหมดนี้ยังไม่เกิดขึ้น...หมายความว่าจะยังไม่มีความท้าทายในเรื่องการบริหารความเสี่ยงในระยะต่อไปหรือเปล่า?

ผมยอมรับว่า ในขณะนี้ยังมีผู้สังเกตการณ์หลายรายที่เห็นว่ากระบวนการปรับตัวดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้นง่าย ๆ เพราะนับแต่เกิดวิกฤตครั้งนี้เป็นต้นมา แทนที่ประเทศจีนจะบริหารค่าเงินหยวนให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น กลับกลายเป็นตรงข้าม ในอดีตก่อนวิกฤตนั้น จีนยังยอมให้ค่าเงินแข็งขึ้นเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ บ้าง ถึงแม้จะทำแบบค่อยเป็นค่อยไปก็ตาม แต่ภายหลังเกิดวิกฤต จีนกลับไปบริหารค่าเงินโดยผูกไว้กับดอลลาร์สหรัฐฯ เกือบจะเต็มที่

หากการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของโลกยังเป็นไปเช่นเดิม จะเป็นความท้าทายสำหรับการบริหารความเสี่ยงอย่างมาก เพราะถ้าหากประเทศในภูมิภาคยังเน้นการส่งออกเต็มที่เหมือนเดิม การสะสมทุนสำรองก็จะเพิ่มขึ้นไปอีก

เมื่อทุนสำรองเพิ่มขึ้น หากประเทศต่างๆ ไม่นำไปลงทุนในสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ก็จะทำให้ดอลลาร์อ่อนลงได้ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อฐานะของทุนสำรองอย่างกว้างขวาง แต่หากนำไปลงทุนในดอลลาร์เช่นเดิม ก็จะมีความเสี่ยงก่อให้เกิดฟองสบู่ขึ้นมาอีกรอบหนึ่งได้

ซึ่งหากเกิดวิกฤตขึ้นอีกครั้งหนึ่งนั้น จุดที่เสี่ยงที่สุดจะไม่ใช่ระบบสถาบันการเงินในประเทศพัฒนาอีกแล้ว เพราะจะได้มีการแก้ไขกฎระเบียบและวิธีการกำกับดูแลไว้ดีขึ้น แต่ประเทศที่มีความเสี่ยงอาจจะเป็นประเทศกำลังพัฒนามากกว่า!

วันจันทร์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ถึงเวลาที่จีนจะแสดงความเป็นผู้นำ

(ตีพิมพ์ในนิตยสาร การเงินธนาคาร ฉบับเดือนมีนาคม 2552)
วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นครั้งนี้ คนส่วนใหญ่พุ่งเป้าคำตำหนิไปที่สหรัฐซึ่งก็เป็นเรื่องที่ถูกต้องทั้งสิ้น ทั้งในเรื่องผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ซับซ้อนเกินไป ระบบโบนัสที่ทำให้สถาบันการเงินเสี่ยงเกินตัว ระบบการจัดอันดับเครดิตที่หละหลวมและมีผลประโยชน์ทับซ้อน กระบวนการให้สินเชื่อซื้อบ้านที่ไม่มีการกำกับดูแลที่ดี และการปล่อยให้สถาบันการเงินมีหนี้เกินทุนเป็นจำนวนมากหลายสิบเท่า ทำให้ผลขาดทุนที่เกิดขึ้นกินทุนจนเกลี้ยงไปอย่างรวดเร็ว

เรื่องเหล่านี้ไม่มีข้อแก้ตัว
แต่ที่ผ่านมาไม่ค่อยมีใครวิจารณ์จีน ทั้งที่จีนเองก็เป็นตัวละครที่มีบทบาทที่สำคัญในการก่อวิกฤตครั้งนี้เช่นกัน

ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจเกิดขึ้นได้อย่างไร

การที่จีนมีส่วนสำคัญต่อการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจอยู่ด้วยนั้น เกิดจากโครงสร้างเศรษฐกิจที่เน้นอุตสาหกรรมการผลิตและการส่งออกมาก โดยอาศัยกระบวนการดูแลค่าเงิน ที่จริงโมเดลนี้ ประเทศเอเชียอื่น ๆ ก็ใช้กันด้วย แต่ที่ผ่านมา ไม่ได้ก่อปัญหาถึงขั้นระดับโลก เพราะแต่ละประเทศมีขนาดไม่ใหญ่โตเท่าจีน

ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนการลงทุนเทียบกับ GDP เพิ่มขึ้นจากระดับ 30 เปอร์เซ็นต์ขึ้นเป็น 40 เปอร์เซ็นต์ สัดส่วนการส่งออกเทียบกับ GDP เพิ่มขึ้นจากระดับ 8 เปอร์เซ็นต์ขึ้นเป็น 35 เปอร์เซ็นต์ แต่สัดส่วนการอุปโภคบริโภคกลับลดลง จาก 65 เปอร์เซ็นต์เหลือระดับ 50 เปอร์เซ็นต์

เมื่อจีนเกินดุลและมีทุนสำรองเพิ่มมาก ก็ทำให้เกิดปัญหาไปยังสหรัฐ ปัญหาเกิดขึ้นได้อย่างไร

ปัญหาของจีนเกิดจากกระบวนการดูแลค่าเงินที่ผูกกับดอลลาร์ ทำให้จีนไม่มีทางเลือก

ต้องนำทุนสำรองไปลงทุนในตลาดพันธบัตรสหรัฐเป็นหลักเท่านั้น เพราะถ้าจีนไปลงทุนในสกุลอื่นจะทำให้สกุลอื่นนั้นแข็งขึ้น ๆ และทำให้ค่าเงินดอลลาร์ยิ่งอ่อนลงๆ กระทบทุนสำรองของตัวเอง

เมื่อจีนลงทุนมากขึ้นๆ ก็ทำให้ดอกเบี้ยระยะยาวในสหรัฐต่ำลงๆ และเป็นเชื้อเพลิงตัวหนึ่งที่ทำให้เกิดเก็งกำไรบ้านในสหรัฐ เพราะสินเชื่อซื้อบ้านดอกเบี้ยถูก จนทำให้เกิดปัญหาซับไพร์ม

ในช่วงท้ายของ Alan Greenspan เราคงจำได้ว่า ถึงแม้แบงค์ชาติสหรัฐจะพยายามส่งสัญญาณชัดเจนโดยขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้น แต่ดอกเบี้ยระยะยาวก็ยังลดต่ำลงสวนทางกับดอกเบี้ยระยะสั้น จน Alan Greenspan กล่าวให้สื่อฟังว่าเป็นเรื่องน่าฉงน

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเป็นเวลานาน เพราะทุกคนดูเหมือนจะได้ประโยชน์ สหรัฐ

ได้ซื้อสินค้าราคาถูก ออสเตรเลียได้ขายสินแร่ บราซิลได้ขายถั่วเหลือง ตะวันออกกลางได้ขายน้ำมัน ถ้าฟองสบู่ไม่ระเบิดขึ้น โมเดลนี้ก็คงเดินหน้าไปเรื่อย ๆ

ในอนาคตต่อไป จีนควรปรับตัวอย่างไร
 
จีนควรจะลดพึ่งพาการส่งออก หันไปกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ลดการเน้นอุตสาหกรรม เพิ่มการเน้นธุรกิจบริการ ไม่ว่าจะเป็นด้าน leisure business หรือด้าน healthcare business หรือด้าน consumer finance และอื่นๆ อีกมากมาย

ถ้าใช้โมเดลนี้ก็สมควรจะปล่อยให้ค่าเงินแข็งขึ้น ปล่อยให้ค่าแรงสูงขึ้น เพื่อให้ชาวบ้าน

มีกำลังซื้อ สามารถไปเที่ยวต่างประเทศมากขึ้น สามารถนำเข้าสินค้าสำเร็จรูปมากขึ้น ประเภทสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภค ไม่ใช่เน้นแต่วัตถุดิบเช่นเดิม

แต่จนบัดนี้ก็ยังเห็นจีนพยายามแก้ปัญหา ด้วยการฟื้นฟูสาขาส่งออกเช่นเดิม

ทำไมโมเดลส่งออกของจีนจึงเสพติดเหลือเกิน

ประการแรก พัฒนาได้ง่ายเพราะอาศัยทั้งเงินทุน ทั้งเทคโนโลยี และทีมบริหาร
จากต่างประเทศ จีนเติมเต็มแต่เฉพาะแรงงานและที่ดิน

ประการที่สอง เปิดให้มีการถ่ายเทเทคโนโลยี

ประการที่สาม ทำให้ทุนสำรองมานอนอยู่ในกระเป๋าของทางการเป็นจำนวนมหาศาล

ปัจจัยสุดท้ายนี้เสพติดได้ง่ายอย่างยิ่ง เพราะใช้ทุนสำรองไปลงทุนต่างประเทศได้ แต่แทนที่จะไปก่อร่างสร้างโรงงาน ช่วงที่ราคาหุ้นตกต่ำทั่วโลกนี้สามารถใช้ซื้อกิจการในตลาดหุ้นได้แทน โดยเฉพาะกิจการที่เป็นเจ้าของสัมปทานสินแร่และวัตถุดิบต่างๆ เท่ากับเป็นการขุดแร่ในตลาดหุ้น สะดวกกว่าไปออกแรงบุกเบิกเหมืองแต่ต้นเสียอีก

เมื่อเร็วๆ นี้จึงมีข่าวว่า บริษัท Chinalco ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมของจีน ได้เสนอจะซื้อบริษัท Rio Tinto ในออสเตรเลีย ซึ่งเป็นบริษัทเจ้าของเหมืองยักษ์ใหญ่ในราคา 19.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

แต่หมากกลเช่นนี้ ย่อมก่อให้เกิดความรู้สึกด้านลบได้ ดังรัฐมนตรีคลังออสเตรเลียให้ข่าวเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2552 นี้ว่า รัฐบาลกำลังคิดจะแก้ไขกฎระเบียบเกี่ยวกับการเทคโอเวอร์ ซึ่งน่าจะเป็นท่าทีที่จะต้องการจะเข้ามาควบคุมหรือขัดขวางการซื้อกิจการทำนองนี้อย่างใกล้ชิดมากขึ้น

ส่งกำลังใจร่วมกันฝ่าวิกฤต

ผู้ที่อาจจะมีความรู้สึกที่ไม่ดีต่อจีนนั้น ควรจะตระหนักว่าการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจของจีนและเอเชียเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาอยู่บ้าง

แต่หากประเทศต่าง ๆ ไม่มีการเจรจากัน หากไม่มีการทำงานร่วมกัน อาจจะนำไปสู่การกีดกันทางการค้าได้ ทั้งโดยตรงหรือโดยอ้อม ซึ่งถ้าเกิดขึ้นก็จะกระทบประเทศอื่น ๆ ในเอเชียไปด้วยอย่างแน่นอน

จึงขอเอาใจช่วยให้จีนทำตัวเป็นผู้นำในการปรับตัวเศรษฐกิจของเอเชีย เพราะทางเลือกอื่นที่ดีกว่านี้ยังมองไม่เห็น

หยุดปั่นหุ้น ต้องตัดไฟแต่ต้นลม


“ตลาดหุ้นต้องมีความเป็นระเบียบร้อย ผู้ลงทุนได้รับความคุ้มครอง การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพ” นี่เป็นพันธกิจหลักของทุกผู้กำกับดูแลตลาดหุ้นทั่วโลก แต่ดูเหมือนว่าการทำราคาหลักทรัพย์ (Price manipulation) หรือ การ “ปั่นหุ้น” จะคอยเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินพันธกิจที่ว่านี้อยู่ร่ำไป
การเก็งกำไร กับ การปั่นหุ้น บางคนว่าสองคำนี้มีเส้นแบ่งระหว่างกันเพียงบางๆ ความจริง “การเก็งกำไร” เป็นสิ่งที่ผู้ลงทุนสามารถทำได้ เพราะใครๆ ก็ย่อมลงทุนเพื่อให้ได้กำไรทั้งนั้น การซื้อถูกแล้วขายแพงเป็นเรื่องปกติธรรมชาติ แต่หากมีการ “ทำ” ให้ราคาหุ้นถูกลงหรือแพงขึ้น นั่นต่างหากคือปัญหา เพราะนั่นคือการปั่นหุ้นที่เข้าข่ายผิดกฎหมายหลักทรัพย์
ผมได้พูดไว้ตั้งแต่วันแรกๆ ของการรับตำแหน่งเลขาธิการ ก.ล.ต. แล้วว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผมให้ความสำคัญลำดับต้นๆ เพราะหากจัดการไม่ได้ จะทำให้ภาพลักษณ์ของตลาดทุนไทยเสียหาย และหากผู้ลงทุนไม่มีความเชื่อมั่นในการลงทุน การที่จะทำให้ตลาดทุนเติบโตต่อไปจะทำได้ยาก

นอกจากการไล่จับนักปั่นหุ้น ซึ่งถือว่าเป็นงานที่ไม่ง่ายแล้ว ผมก็ลองนึกถึงวิธีป้องปราม หรือ “ตัดไฟแต่ต้นลม” ด้วยการแก้ปัญหาเฉพาะจุด เพื่อยับยั้งไม่ให้กระบวนการสร้างราคาลุกลามโดยหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องแล้วหลายฝ่าย จนออกมาเป็นข้อสรุปว่า จำเป็นต้องอาศัยแรงหลักจาก

(1) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในการทำหน้าที่เป็น front line regulator หรือด่านแรกในการตรวจสอบและติดตามการซื้อขายหุ้นอย่างใกล้ชิด หากเห็นว่าหุ้นใดร้อนแรงผิดปกติก็จะร่วมมือกับ ก.ล.ต. และเรียกบริษัทสมาชิก (โบรกเกอร์) ที่เกี่ยวข้องมาหารือเพื่อควบคุมหรือลดวงเงินซื้อขายหุ้นตัวนั้นกับลูกค้าเป็นการชั่วคราว และเพื่อความโปร่งใสและให้มั่นใจว่าไม่มีการเลือกปฏิบัติ ก.ล.ต.ก็จะเข้าตรวจสอบตลาดอีกครั้ง และ
(2) บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เข้ามาเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการดูแลอย่างจริงจัง สำหรับมาตรการ ประกอบด้วย กำหนดให้ บล.มีความรับผิดชอบต่อการกระทำของพนักงานที่มีส่วนร่วมในการปั่นหุ้น โดย บล.จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบกำกับดูแลพนักงานที่ติดต่อกับผู้ลงทุนอย่างใกล้ชิด และหาก ก.ล.ต.พบว่าพนักงานของ บล.ใดมีส่วนร่วมในการปั่นหุ้น นอกจากจะลงโทษพนักงานแล้ว ก.ล.ต.จะพิจารณาลงโทษ บล.นั้นด้วย ซึ่งจะมีตั้งแต่การ sanction ในฐานะที่ บล.นั้นไม่จัดให้มีระบบในการกำกับดูแลการปฏิบัติงานของพนักงานที่รัดกุมเพียงพอ และอาจไปถึงขั้นกล่าวโทษ บล.นั้นด้วย

วันศุกร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2553

มหกรรมการลงทุนครบวงจร SET in The City 2009

นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เยี่ยมชมบูธ ก.ล.ต. โดยมีวิจิตร สุพินิจ ประธาน ก.ล.ต. และ ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ ก.ล.ต. ให้การต้อนรับ ในงาน “มหกรรมการลงทุนครบวงจร SET in The City 2009” ณ พารากอนฮอลล์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน วันที่ 12 พฤศจิกายน 2552

ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ ความท้าทายในการบริหารความเสี่ยงในระยะต่อไป

นายธีระชัย ภูนาถนรานุบาล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "ความท้าทายในการบริหารความเสี่ยงในระยะต่อไป" ในงานสัมมนาประจำปีสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย "TLCA Annual Risk Management Conference 2010" ระหว่างวันที่ 16-17 กุมภาพันธ์ 2553 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์

ข่าว ก.ล.ต. ฉบับที่ 26/2553 วันที่ 6 พฤษภาคม 2553



“ก.ล.ต. ได้ตระหนักถึงความสำคัญของความรู้และข้อมูลการลงทุน ซึ่งเปรียบเสมือนอาวุธที่จะทำให้ผู้ลงทุนมีความเชื่อมั่นและตัดสินใจลงทุนได้อย่างถูกต้องในระดับความเสี่ยงที่ตนเข้าใจและยอมรับได้ รวมทั้งให้ผู้ลงทุนรู้จักและใช้สิทธิเพื่อปกป้องประโยชน์ของตนเอง จึงได้พัฒนาเว็บไซต์ความรู้สำหรับผู้ลงทุน www.sec.or.th/education ขึ้นมาเป็นศูนย์รวมความรู้และข้อมูลสำคัญสำหรับการลงทุน เพิ่มความสะดวกในการค้นหาข้อมูลและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้มีเงินออมที่กำลังคิดจะเริ่มลงทุนในตลาดทุน โดยขณะนี้เว็บไซต์ข้างต้นได้เปิดให้บริการแล้ว”