วันจันทร์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ถึงเวลาที่จีนจะแสดงความเป็นผู้นำ

(ตีพิมพ์ในนิตยสาร การเงินธนาคาร ฉบับเดือนมีนาคม 2552)
วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นครั้งนี้ คนส่วนใหญ่พุ่งเป้าคำตำหนิไปที่สหรัฐซึ่งก็เป็นเรื่องที่ถูกต้องทั้งสิ้น ทั้งในเรื่องผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ซับซ้อนเกินไป ระบบโบนัสที่ทำให้สถาบันการเงินเสี่ยงเกินตัว ระบบการจัดอันดับเครดิตที่หละหลวมและมีผลประโยชน์ทับซ้อน กระบวนการให้สินเชื่อซื้อบ้านที่ไม่มีการกำกับดูแลที่ดี และการปล่อยให้สถาบันการเงินมีหนี้เกินทุนเป็นจำนวนมากหลายสิบเท่า ทำให้ผลขาดทุนที่เกิดขึ้นกินทุนจนเกลี้ยงไปอย่างรวดเร็ว

เรื่องเหล่านี้ไม่มีข้อแก้ตัว
แต่ที่ผ่านมาไม่ค่อยมีใครวิจารณ์จีน ทั้งที่จีนเองก็เป็นตัวละครที่มีบทบาทที่สำคัญในการก่อวิกฤตครั้งนี้เช่นกัน

ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจเกิดขึ้นได้อย่างไร

การที่จีนมีส่วนสำคัญต่อการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจอยู่ด้วยนั้น เกิดจากโครงสร้างเศรษฐกิจที่เน้นอุตสาหกรรมการผลิตและการส่งออกมาก โดยอาศัยกระบวนการดูแลค่าเงิน ที่จริงโมเดลนี้ ประเทศเอเชียอื่น ๆ ก็ใช้กันด้วย แต่ที่ผ่านมา ไม่ได้ก่อปัญหาถึงขั้นระดับโลก เพราะแต่ละประเทศมีขนาดไม่ใหญ่โตเท่าจีน

ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนการลงทุนเทียบกับ GDP เพิ่มขึ้นจากระดับ 30 เปอร์เซ็นต์ขึ้นเป็น 40 เปอร์เซ็นต์ สัดส่วนการส่งออกเทียบกับ GDP เพิ่มขึ้นจากระดับ 8 เปอร์เซ็นต์ขึ้นเป็น 35 เปอร์เซ็นต์ แต่สัดส่วนการอุปโภคบริโภคกลับลดลง จาก 65 เปอร์เซ็นต์เหลือระดับ 50 เปอร์เซ็นต์

เมื่อจีนเกินดุลและมีทุนสำรองเพิ่มมาก ก็ทำให้เกิดปัญหาไปยังสหรัฐ ปัญหาเกิดขึ้นได้อย่างไร

ปัญหาของจีนเกิดจากกระบวนการดูแลค่าเงินที่ผูกกับดอลลาร์ ทำให้จีนไม่มีทางเลือก

ต้องนำทุนสำรองไปลงทุนในตลาดพันธบัตรสหรัฐเป็นหลักเท่านั้น เพราะถ้าจีนไปลงทุนในสกุลอื่นจะทำให้สกุลอื่นนั้นแข็งขึ้น ๆ และทำให้ค่าเงินดอลลาร์ยิ่งอ่อนลงๆ กระทบทุนสำรองของตัวเอง

เมื่อจีนลงทุนมากขึ้นๆ ก็ทำให้ดอกเบี้ยระยะยาวในสหรัฐต่ำลงๆ และเป็นเชื้อเพลิงตัวหนึ่งที่ทำให้เกิดเก็งกำไรบ้านในสหรัฐ เพราะสินเชื่อซื้อบ้านดอกเบี้ยถูก จนทำให้เกิดปัญหาซับไพร์ม

ในช่วงท้ายของ Alan Greenspan เราคงจำได้ว่า ถึงแม้แบงค์ชาติสหรัฐจะพยายามส่งสัญญาณชัดเจนโดยขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้น แต่ดอกเบี้ยระยะยาวก็ยังลดต่ำลงสวนทางกับดอกเบี้ยระยะสั้น จน Alan Greenspan กล่าวให้สื่อฟังว่าเป็นเรื่องน่าฉงน

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเป็นเวลานาน เพราะทุกคนดูเหมือนจะได้ประโยชน์ สหรัฐ

ได้ซื้อสินค้าราคาถูก ออสเตรเลียได้ขายสินแร่ บราซิลได้ขายถั่วเหลือง ตะวันออกกลางได้ขายน้ำมัน ถ้าฟองสบู่ไม่ระเบิดขึ้น โมเดลนี้ก็คงเดินหน้าไปเรื่อย ๆ

ในอนาคตต่อไป จีนควรปรับตัวอย่างไร
 
จีนควรจะลดพึ่งพาการส่งออก หันไปกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ลดการเน้นอุตสาหกรรม เพิ่มการเน้นธุรกิจบริการ ไม่ว่าจะเป็นด้าน leisure business หรือด้าน healthcare business หรือด้าน consumer finance และอื่นๆ อีกมากมาย

ถ้าใช้โมเดลนี้ก็สมควรจะปล่อยให้ค่าเงินแข็งขึ้น ปล่อยให้ค่าแรงสูงขึ้น เพื่อให้ชาวบ้าน

มีกำลังซื้อ สามารถไปเที่ยวต่างประเทศมากขึ้น สามารถนำเข้าสินค้าสำเร็จรูปมากขึ้น ประเภทสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภค ไม่ใช่เน้นแต่วัตถุดิบเช่นเดิม

แต่จนบัดนี้ก็ยังเห็นจีนพยายามแก้ปัญหา ด้วยการฟื้นฟูสาขาส่งออกเช่นเดิม

ทำไมโมเดลส่งออกของจีนจึงเสพติดเหลือเกิน

ประการแรก พัฒนาได้ง่ายเพราะอาศัยทั้งเงินทุน ทั้งเทคโนโลยี และทีมบริหาร
จากต่างประเทศ จีนเติมเต็มแต่เฉพาะแรงงานและที่ดิน

ประการที่สอง เปิดให้มีการถ่ายเทเทคโนโลยี

ประการที่สาม ทำให้ทุนสำรองมานอนอยู่ในกระเป๋าของทางการเป็นจำนวนมหาศาล

ปัจจัยสุดท้ายนี้เสพติดได้ง่ายอย่างยิ่ง เพราะใช้ทุนสำรองไปลงทุนต่างประเทศได้ แต่แทนที่จะไปก่อร่างสร้างโรงงาน ช่วงที่ราคาหุ้นตกต่ำทั่วโลกนี้สามารถใช้ซื้อกิจการในตลาดหุ้นได้แทน โดยเฉพาะกิจการที่เป็นเจ้าของสัมปทานสินแร่และวัตถุดิบต่างๆ เท่ากับเป็นการขุดแร่ในตลาดหุ้น สะดวกกว่าไปออกแรงบุกเบิกเหมืองแต่ต้นเสียอีก

เมื่อเร็วๆ นี้จึงมีข่าวว่า บริษัท Chinalco ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมของจีน ได้เสนอจะซื้อบริษัท Rio Tinto ในออสเตรเลีย ซึ่งเป็นบริษัทเจ้าของเหมืองยักษ์ใหญ่ในราคา 19.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

แต่หมากกลเช่นนี้ ย่อมก่อให้เกิดความรู้สึกด้านลบได้ ดังรัฐมนตรีคลังออสเตรเลียให้ข่าวเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2552 นี้ว่า รัฐบาลกำลังคิดจะแก้ไขกฎระเบียบเกี่ยวกับการเทคโอเวอร์ ซึ่งน่าจะเป็นท่าทีที่จะต้องการจะเข้ามาควบคุมหรือขัดขวางการซื้อกิจการทำนองนี้อย่างใกล้ชิดมากขึ้น

ส่งกำลังใจร่วมกันฝ่าวิกฤต

ผู้ที่อาจจะมีความรู้สึกที่ไม่ดีต่อจีนนั้น ควรจะตระหนักว่าการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจของจีนและเอเชียเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาอยู่บ้าง

แต่หากประเทศต่าง ๆ ไม่มีการเจรจากัน หากไม่มีการทำงานร่วมกัน อาจจะนำไปสู่การกีดกันทางการค้าได้ ทั้งโดยตรงหรือโดยอ้อม ซึ่งถ้าเกิดขึ้นก็จะกระทบประเทศอื่น ๆ ในเอเชียไปด้วยอย่างแน่นอน

จึงขอเอาใจช่วยให้จีนทำตัวเป็นผู้นำในการปรับตัวเศรษฐกิจของเอเชีย เพราะทางเลือกอื่นที่ดีกว่านี้ยังมองไม่เห็น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น