วันศุกร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ความท้าทายของตลาดทุนไทยในปีหน้า

คำบรรยายโดย นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต.
ในงาน Thailand Smart Money 2010 – 2011
วันที่ 24 ธันวาคม 2553

ท่านผู้มีเกียรติที่เคารพ

เดิมผู้จัดงานได้ขอให้ผมพูดเกี่ยวกับแนวโน้มตลาดทุนไทยในปีหน้า ถ้าใช้หัวข้อนี้ ปกติผู้ฟังก็มักจะต้องการทราบแนวคิดของผู้พูดว่า ในปีหน้าตลาดหุ้นจะขึ้นหรือจะลง ถ้าบอกว่าจะขึ้นหรือจะลง ก็จะต้องการรู้ต่อไปว่าที่บอกว่าจะขึ้นหรือลงนั้น จะมากหรือน้อยเพียงใด และหากบอกว่ามากหรือน้อย ก็จะขอให้เจาะลึกลงไปว่าจะเป็นหุ้นในกลุ่มใด หรือทางที่ดีก็ให้ฟันธงไปเลยว่า
จะเป็นหุ้นตัวใด และดีที่สุด โปรดบอกด้วยว่าจะให้ซื้อหรือขายเมื่อใด เพราะบางคนหากไม่มีเงินมาซื้อเพื่อลงทุน ก็ประสงค์ที่จะกู้ และจะได้ไม่ต้องเสียดอกเบี้ยเป็นเวลาที่นานเกินไป

ผมต้องขอเรียนว่า ในฐานะเลขาธิการ ก.ล.ต. เนื่องจากเป็นผู้ที่มีหน้าที่กำกับดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยของตลาดทุน จึงไม่สามารถแสดงความเห็นเกี่ยวกับทิศทางของตลาดได้
และถึงแม้ถ้าหากว่าผมจะพยายามแสดงความเห็น ก็มีโอกาสจะผิดมากกว่าถูก เพราะเลขาธิการ ก.ล.ต. นั้น มีกฎระเบียบห้ามเล่นหุ้น ผมจึงไม่มีความชำนาญ และความเห็นของผมจึงไม่น่าจะดีเด่นไปกว่านักวิเคราะห์มืออาชีพ

ดังนั้น หากมีใครพยายามคะยั้นคะยอให้ผมคาดเดาทิศทางของตลาดหุ้น ผมก็มักจะพูดพยากรณ์ได้อย่างมั่นใจว่า ในปีหน้านั้น ทิศทางของตลาดหุ้นไทยจะขึ้นๆ ลงๆ อย่างแน่นอน

แต่นอกเหนือจากนั้น ในวันนี้ผมคิดว่ามีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับตลาดทุนไทย
บางประเด็น ที่ผมพอจะนำมาเล่าสู่กันฟังได้

ก่อนอื่นขอทบทวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2553 ที่ผ่านมาเสียก่อน ปีนี้นับว่าเป็นปีที่ทุกคนในตลาดทุนมีหน้าตาที่แจ่มใส เพราะตลาดหุ้นเริ่มต้นปีที่ระดับประมาณ 700 จุด และขึ้นไปทะลุระดับ 1,000 จุด คือขึ้นมากกว่า 40% ผมเองได้คุยกับโบรกเกอร์ทั้งไทยและต่างชาติหลายราย พบว่า ส่วนใหญ่เมื่อต้นปีนี้ มิได้คาดเดาว่าตลาดหุ้นไทยจะปรับตัวสูงขึ้นไปมากและรวดเร็วเช่นนี้

ปัจจัยหลักที่ผลักดันตลาดหุ้นไทยสูงขึ้นไปตลอดปีนี้ มีปัจจัยสำคัญจากนักลงทุนต่างประเทศ โดยเศรษฐกิจของโลกนั้นแบ่งได้เป็น 2 ฝั่ง ฝั่งหนึ่งของประเทศพัฒนาแล้ว โดยเป็นฝั่งที่โดนผลกระทบจากวิกฤตการเงินของโลกที่ประทุขึ้นตั้งแต่ปี 2551 เมื่อสองปีมาแล้ว เศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ยังมีปัญหาจนถึงทุกวันนี้

กรณีของสหรัฐฯ อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจย้อนไปในปี 2552 อยู่ในระดับที่ต่ำถึงขนาดติดลบไปร้อยละ 2.6 และในปีนี้ถึงแม้จะกลับเป็นบวก แต่ก็คาดว่าจะยังอยู่ในระดับเพียงประมาณร้อยละ 2.8 ประเทศในยุโรปนั้นก็ประสบปัญหามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปัญหาวิกฤตนโยบายการคลังของบางประเทศ อัตราการขยายตัวของประเทศที่นับว่าดีที่สุดก็คือประมาณร้อยละ 3.5 ของประเทศเยอรมนี ส่วนประเทศที่มีปัญหาด้านการคลังคือประเทศกรีซและไอร์แลนด์นั้น อัตราการขยายตัวอยู่ในระดับติดลบร้อยละ 0.4 และติดลบ 4.1 ตามลำดับ โดยอัตราการขยายตัวของประเทศในแถบยุโรปเฉลี่ยนั้นอยู่ที่เพียงประมาณร้อยละ 1.7

แต่ฝั่งของประเทศพัฒนาใหม่กลับเป็นฝั่งที่เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องและขยายตัวในระดับสูง โดยเฉพาะประเทศในเอเชีย ด้วยเหตุนี้ เงินลงทุนระหว่างประเทศจึงหลั่งไหลเข้ามายังตลาดหุ้นในเอเชียตลอดปี ทำให้ตลาดหุ้นขึ้นไปกันถ้วนหน้า โดยตลาดที่นำหน้าคือ อินโดนีเซีย ที่ขึ้นไปร้อยละ 45 จากปีก่อนหน้า ตามด้วยประเทศไทยที่ขึ้นไปประมาณร้อยละ 40 ส่วนตลาดที่ขึ้นไปน้อยสักหน่อยคือ ไต้หวัน ก็ยังเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 - 7

ในด้านตลาดตราสารหนี้ก็เช่นกัน เนื่องจากสกุลเงินของประเทศพัฒนาใหม่ในเอเชีย มีแนวโน้มจะแข็งขึ้นมากกว่าเงินสกุลหลักบางสกุล โดยเฉพาะเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยในสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ นั้นอยู่ในระดับที่ต่ำ เงินลงทุนระหว่างประเทศจึงหลั่งไหลเข้ามาในตลาดตราสารหนี้ด้วย โดยสถาบัน IIF หรือ The Institute of International Finance ที่ตั้งอยู่ที่กรุงวอชิงตันได้ประเมินว่าในปี 2552 มีเงินไหลเข้าประเทศกำลังพัฒนากว่า 9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และสำหรับปี 2553 ที่ผ่านมานี้ ตัวเลขได้เพิ่มสูงขึ้นถึง 1.1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

กรณีของประเทศไทยนั้น ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ 2553 ได้มีเงินไหลเข้าตลาดตราสารหนี้กว่า 2 แสนล้านบาท ตัวเลขของปีนี้ครึ่งปีปรากฏว่ามากกว่าตัวเลขรวมทั้งปีของปีก่อนถึง 15 เท่า

นอกจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจมหภาคของไทยและของโลกแล้ว ยังมีปัจจัยเรื่องการพัฒนา
การบริหารจัดการที่ดีของบริษัทจดทะเบียนในไทยอีกด้วย โดยในปีที่ผ่านมานี้ องค์กร Asian Corporate Governance Association (ACGA) ร่วมกับ CLSA (Credit Lyonnais Securities Asia) Asia-Pacific Markets ซึ่งตั้งอยู่ที่เขตปกครองพิเศษฮ่องกง และเป็นองค์กรที่ประเมินระดับ corporate governance ของประเทศในทวีปเอเชีย 11 ประเทศเป็นประจำทุกปี ก็ได้เลื่อนอันดับของไทยสูงขึ้นด้วย

ในปีก่อนนั้น ไทยได้อันดับที่ 8 แต่ในปีนี้ ได้เลื่อนขึ้นเป็นอันดับที่ 4 โดยประเด็นที่ได้รับการปรับคะแนนสูงขึ้นมากที่สุดได้แก่ การที่รัฐบาลมีนโยบายชัดเจนในการจัดทำแผนพัฒนาตลาดทุนที่สะท้อนให้เห็นความมุ่งมั่นในการพัฒนาตลาดทุนอย่างจริงจัง มีการแก้ไขกฎหมายและกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อรองรับการยกระดับการกำกับดูแลกิจการ ซึ่งความสำเร็จในเรื่องนี้เกิดจากการประสานและร่วมมือของหลายองค์กร ทั้งกระทรวงการคลัง ก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์ฯ สมาคมบริษัทจดทะเบียน สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุน สมาคมผู้ประกอบการในธุรกิจหลักทรัพย์ต่าง ๆ และองค์กรที่เกี่ยวข้องอื่นๆ อีกหลายองค์กร

นอกจากนี้ ไทยและประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนยังได้รับประโยชน์จากการดำเนินการของ ก.ล.ต. อาเซียน (ACMF) ที่ผมเองทำหน้าที่เป็นประธานอยู่ด้วยอีกทางหนึ่ง โดย ก.ล.ต. อาเซียนได้กำหนดแผนงานเพื่อเชื่อมโยงตลาดทุนของอาเซียนให้แน่นแฟ้นกันมากขึ้น และได้รับการอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของอาเซียนไปเมื่อปี 2552

แผนงานดังกล่าว มีเป้าหมายที่จะผลักดันอาเซียนแบรนด์ให้เป็นสินค้าระดับโลก โดยมีแผนการดำเนินงานที่สำคัญ 3 ด้านหลัก คือ

1. สินค้าอาเซียนแบรนด์ต้องมีคุณภาพดี โดยผู้ลงทุนมีความเชื่อมั่นในบรรษัทภิบาลและมาตรฐานบัญชีของบริษัทจดทะเบียนในตลาดทุนอาเซียน

2. การเปิดเผยข้อมูลในการออกและเสนอขายหลักทรัพย์ภายในกลุ่มประเทศอาเซียนเป็นไปตามมาตรฐานเดียวกัน โดย ACMF ได้มีการจัดทำมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลในอาเซียน (ASEAN and Plus Standards) ซึ่งขณะนี้ก็มี 3 ประเทศที่ได้ประกาศใช้มาตรฐานนี้แล้ว คือ มาเลเซีย สิงคโปร์และไทย เป้าหมายในเรื่องนี้ในที่สุดจะพัฒนาต่อไปจนสามารถอำนวยความสะดวกให้เสนอขายสินค้าข้ามประเทศกันได้โดยทำหนังสือชี้ชวนเพียงจุดเดียวหรือที่เรียกว่า Single passport

3. ผู้ลงทุนและตัวกลางสามารถเข้าถึงตลาดหลักทรัพย์หลัก ๆ ในอาเซียนได้โดยสะดวกและรวดเร็วในระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยการเข้าถึงเพียงจุดเดียว (single point of entry) ภายใต้โครงการเชื่อมโยงตลาดหลักทรัพย์ในอาเซียน (ASEAN Exchange Linkage)

ด้วยปัจจัยต่าง ๆ ที่กล่าวมานี้ ตลาดทุนของประเทศพัฒนาใหม่รวมทั้งประเทศไทย จึงเป็นเป้าหมายที่นักลงทุนนำเงินเข้ามาลงทุนตลอดปี 2553 ที่ผ่านมา และประเด็นที่น่าสนใจก็คือ
คำถามว่า แนวโน้มนี้จะต่อเนื่องไปในปีหน้า 2554 หรือไม่

สำหรับปีหน้า 2554 ปัจจัยบวกต่อตลาดทุนไทยก็คือ ในด้านเศรษฐกิจมหภาคของโลกนั้น ทิศทางของอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจที่แบ่งโลกออกเป็นสองฝั่งก็น่าจะยังเป็นไปเช่นเดิม
โดยการฟื้นตัวของประเทศสหรัฐฯ ก็จะยังเป็นไปอย่างช้า ๆ ทำให้ธนาคารกลางต้องดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ด้วยมาตรการอัดฉีดปริมาณเงินเข้าไปในระบบ หรือที่เรียกว่า Quantitative Easing โดยข่าวล่าสุดธนาคารกลางแจ้งว่าจำนวนเงินที่จะอัดฉีดอาจจะมากกว่าที่กำหนดไว้เดิม หกแสนล้านดอลลาร์ด้วยซ้ำ

ส่วนด้านยุโรปก็ยังแก้ปัญหาด้านการคลังของบางประเทศไม่ลุล่วง และมีแนวโน้มว่าการแก้ปัญหาจะยุ่งยากขึ้นเสียด้วย โดยเฉพาะหากความเชื่อมั่นของนักลงทุนในบางประเทศที่ฐานะเปราะบางเกิดลุกลามไปอีกจนกระทบประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น สเปน หรือ อิตาลี ย่อมทำให้นักลงทุนสนใจภูมิภาคนี้น้อยลง

ดังนั้น ความสนใจของนักลงทุนและนักเก็งกำไรจึงยังจะเน้นอยู่ที่ประเทศพัฒนาใหม่เช่นเดิม โดยเฉพาะประเทศในเอเชีย ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้น่าจะทำให้มีแรงหนุนตลาดหุ้นของประเทศเหล่านี้พอสมควร รวมถึงประเทศไทย

สำหรับปัจจัยด้านลบต่อตลาดทุนไทยนั้นก็มีอยู่บ้างเหมือนกัน เศรษฐกิจของไทยในปีหน้าถึงแม้จะขยายตัว แต่อัตราการขยายตัวอาจจะต่ำกว่าปีนี้ลงบ้าง และกรณีหากธนาคารแห่งประเทศไทยขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องไปอีก ก็ย่อมมีผลทำให้ต้นทุนเงินกู้สูงขึ้น ประกอบกับปีหน้าจะมีการเลือกตั้งทั่วไป จึงยังมีปัจจัยด้านการเมืองที่ผู้ลงทุนควรจะนำมาประกอบการพิจารณาด้วย

แต่มีปัจจัยความเสี่ยงอยู่เรื่องหนึ่งที่ผมเห็นว่าสมควรระมัดระวังไว้ คือความเสี่ยงฟองสบู่จากเงินทุนไหลเข้า เพราะในขณะนี้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีดอกเบี้ยอยู่ในระดับเพียงร้อยละ 0.25 ต่อปี ถ้าผมเป็นนักลงทุนต่างประเทศ ผมก็จะกู้เงินในสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีต้นทุนดอกเบี้ยที่ต่ำ เพื่อนำไปหาผลประโยชน์ในประเทศใดที่ผลตอบแทนสูงกว่า

กรณีที่สกุลเงินใหญ่ของโลกมีอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานานนั้น เคยมีมาก่อนหน้า โดยเฉพาะกรณีเงินเยนที่อัตราดอกเบี้ยเกือบเท่าศูนย์เป็นเวลาหลายปี แต่กรณีเงินเยนนั้น ถึงแม้จะมีผลสร้างฟองสบู่ใด้ แต่ผลที่เกิดขึ้นต่อประเทศพัฒนาใหม่ในเอเชียนั้นมีจำกัด เพราะประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่บริหารเงินให้สัมพันธ์กับดอลลาร์สหรัฐฯ มากกว่ากับเงินเยน

แต่ครั้งนี้อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำนั้นเกิดขึ้นจากสกุลดอลลาร์โดยตรง ประกอบกับในการดำเนินมาตรการ QE ของสหรัฐฯ นั้น ธนาคารกลางจะเข้าไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ในตลาดรองโดยตรง โดยจะเน้นพันธบัตรอายุ 5-6 ปี ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยในสหรัฐฯ จะถูกกดให้ต่ำตลอดทั้งโครงสร้าง ตั้งแต่อายุพันธบัตรสั้นไปจนถึงอายุพันธบัตรยาว

ดังนั้น สถานการณ์เช่นนี้จะทำให้นักเก็งกำไรสามารถกู้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในดอกเบี้ยที่ต่ำได้นานขึ้น และนำเงินไปลงทุนในประเทศที่สกุลเงินมีความสัมพันธ์กับดอลลาร์สหรัฐฯ จึงน่าจะมีผลทำให้มีเงินทุนเก็งกำไรไหลเข้าประเทศพัฒนาใหม่ในเอเชียเป็นจำนวนมาก

ผลจะเกิดขึ้นในแต่ละประเทศมากหรือน้อยจะขึ้นอยู่กับมาตรการที่ทางการของประเทศนั้น ๆ จะดำเนินการ ซึ่งกรณีของประเทศไทยนั้น ผมไม่มีหน้าที่และไม่อาจจะวิจารณ์ได้ว่าจะเป็นอย่างไร แต่หากประเทศพัฒนาใหม่ในเอเชียประเทศใดไม่ปิดกั้น หรือไม่ชะลอกระแสเงินนี้ด้วยมาตรการใดมาตรการหนึ่ง เงินทุนดังกล่าวย่อมจะมีผลทำให้ราคาทรัพย์สินสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นราคาหุ้น ราคาพันธบัตรหรือหุ้นกู้ ราคาอสังหาริมทรัพย์ หรือราคาทรัพย์สินอื่น ๆ

แต่ในเวลาเดียวกัน ก็อาจจะเกิดความผันผวนในราคาทรัพย์สินขึ้นมากกว่าเดิม เพราะว่าปัจจัยที่จะกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน หรือที่จะบังคับให้นักลงทุนต้องปรับสัดส่วนในพอร์ตเงินลงทุนไว้ในที่ต่าง ๆ ของโลกนั้น จะไม่ใช่ปัจจัยเฉพาะที่เกิดขึ้นในประเทศพัฒนาใหม่ แต่จะครอบคลุมไปถึงปัจจัยในต่างประเทศทั่วโลกด้วย เช่น หากตลาดหุ้นในสหรัฐฯ ลดลงกะทันหัน หรือหากมีข่าวข้อกังวลเกี่ยวกับฐานะของบางประเทศในยุโรป หรือหากมีข่าวลือเกี่ยวกับฐานะของธนาคารพาณิชย์บางรายในยุโรป ก็อาจจะทำให้นักลงทุนต้องปรับสัดส่วนการกระจายเงินลงทุนเข้าไปในประเทศต่าง ๆ

กรณีเช่นนี้ นักลงทุนบางรายอาจจะต้องปรับลดเงินที่ลงทุนในประเทศเอเชียทุกประเทศ โดยแต่ละประเทศถึงแม้อาจจะลดสัดส่วนลงเพียงไม่มากเทียบกับกองทุนของเขา แต่หากกองทุนดังกล่าวมีขนาดใหญ่มาก สัดส่วนที่เล็กของกองทุนก็อาจจะเป็นสัดส่วนที่มีนัยสำคัญสำหรับประเทศพัฒนาใหม่อย่างประเทศไทยก็ได้ ราคาหลักทรัพย์จึงอาจจะผันผวนมากกว่ากรณีที่เงินลงทุนมาจากภายในประเทศเป็นสำคัญ

วิธีบริหารความเสี่ยงเพื่อรองรับปัญหานี้ จะมีหลายด้าน ดังนี้

ด้านที่หนึ่ง การให้กู้ยืมภายในประเทศเพื่อนำเงินไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่าง ๆ ต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวังมากขึ้น ไม่ว่าการให้กู้ยืมเงินแบบ margin loan โดยบริษัทหลักทรัพย์ หรือการให้กู้ยืมแบบ personal loan หรือ commercial loan โดยธนาคารพาณิชย์ โดยลูกค้าใช้หุ้น ตราสารหนี้ หรือหลักทรัพย์อื่น ๆ เป็นหลักประกัน และสถานการณ์ที่น่ากลัวที่สุด คือ หากการเก็งกำไรเฟื่องฟูมากเสียจนกระทั่งผู้ประกอบการค้าเลิกสนใจการทำธุรกิจหรือการขยายธุรกิจปกติ แต่หันไปเน้นการเก็งกำไรเป็นกิจกรรมหลัก ธนาคารพาณิชย์ควรหลีกเลี่ยงให้การสนับสนุนลูกค้าลักษณะนี้

ด้านที่สอง การให้กู้ยืมทั่วไปไม่ว่าโดยธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินประเภทอื่น ๆ ขอแนะนำให้ตีราคาหลักประกันอย่างระมัดระวังไว้ก่อน เพื่อให้แน่ใจว่าลูกค้าจะสามารถผ่อนชำระหนี้คืนได้ตามกำหนดถึงแม้ในสภาวะที่ราคาอาจจะเกิดความผันผวนมากขึ้น

ด้านที่สาม การวิเคราะห์ผลกำไรของบริษัทต่าง ๆ ต้องระวังและแยกแยะให้ได้ว่าเป็นผลกำไรที่เกิดจากธุรกิจดั้งเดิม ซึ่งมีโอกาสจะเกิดขึ้นซ้ำในปีต่อ ๆ ไป หรือเป็นผลกำไรจากกิจกรรมที่ยึดโยงกับฟองสบู่ เช่น กำไรจากการซื้อขายหุ้นของบริษัทในเครือหรือบริษัทอื่น กำไรจากการตีราคาอสังหาริมทรัพย์ที่พุ่งสูงขึ้นเป็นการชั่วคราว

ด้านที่สี่ การบริหารธุรกิจต่าง ๆ ควรจะระมัดระวังการก่อหนี้ให้มากขึ้น โดยเฉพาะการก่อหนี้เพื่อเอาเงินไปลงทุนในธุรกิจประเภทฟองสบู่ และขอแนะนำให้กิจการต่าง ๆ ควรจะรักษาสัดส่วนหนี้ต่อทุนไว้มิให้ขยายตัวเกินกว่าอัตราที่เหมาะสม เนื่องจากสภาวะความผันผวนที่อาจจะเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวนั้น อาจจะมีผลกระทบต่อกระแสเงินที่กิจการของท่านเก็งว่าจะได้รับ ทั้งในแง่จำนวนเงินและในแง่ความล่าช้าที่อาจเกิดขึ้นได้

ด้านที่ห้า ควรระมัดระวังการให้กู้ยืมแก่ลูกค้าเพื่อนำไปทำกิจการใหม่ ๆ ที่ตนเองไม่ชำนาญ เนื่องจากสถานการณ์ที่มีฟองสบู่นั้น มีแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการธุรกิจต่าง ๆ หันไปลองทำธุรกิจที่มีผลกำไรดีในระยะสั้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการบางรายที่มีที่ดินที่เป็นมรดกตกทอดมานั้น บางรายอาจจะฝันหวานอยากจะทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทั้ง ๆ ที่ตนเองไม่ชำนาญ

โดยสรุป ผมจึงแนะนำได้ว่า ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ถึงแม้สภาวะจะเอื้ออำนวยต่อตลาดทุนไทย แต่ก็มีปัจจัยความเสี่ยงที่ต้องคำนึง และผู้ที่เกี่ยวข้องควรจะศึกษาแนวทางการบริหารความเสี่ยงเตรียมไว้อย่างรอบคอบที่สุด