วันอังคารที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ความท้าทายในการบริหารความเสี่ยงระยะต่อไป

(กล่าวในงาน “Challenges on Risk Management in the Future” จัดโดยสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย 16 กุมภาพันธ์ 2553)
 ภาค 1 วิกฤตเกิดจากจุดอ่อนของระบบกำกับดูแลสถาบันการเงินอย่างเดียวจริงหรือ?

ผมเห็นว่ามีหลายปัจจัยที่นำไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเงินโลกที่ผ่านมา แต่ปัจจัยที่สำคัญมากที่สุดคือ “ระบบการกำกับดูแลสถาบันการเงิน” ทั้งในเรื่องกฎเกณฑ์ในเรื่องความเพียงพอของเงินกองทุนที่หย่อนยานเกินไป การกำกับดูแลการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่มีจุดอ่อน และกระบวนการแปลงสินทรัพย์ให้เป็นหลักทรัพย์ (securitization) ที่มีข้อด้อย

หลักเกณฑ์ในด้านความเพียงพอของเงินกองทุนอาจจะสามารถรองรับการปล่อยกู้ของสถาบันการเงิน แต่ไม่เพียงพอสำหรับสถาบันการเงินที่ลงทุนในหลักทรัพย์จำนวนมาก เพราะทรัพย์สินที่เกิดจาก portfolio trading นั้น มีความเสี่ยงสูงกว่าทรัพย์สินประเภทเงินให้กู้

ในสหรัฐฯ ยังมีจุดอ่อนในเรื่องการกำกับดูแลการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย จากการที่เปิดโอกาสให้ลูกหนี้หลายรายกู้เงินโดยใช้บ้านเป็นหลักประกัน เพื่อเพิ่มยอดหนี้ให้สูงขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกจนเกินกำลังการชำระหนี้ รวมทั้งปล่อยให้ลูกค้าสถาบันการเงินสามารถซื้อบ้านเกินกำลัง ทั้งในแง่ซื้อบ้านที่ราคาแพงเกินไป และกู้เงินซื้อบ้านเก็งกำไรหลายหลัง

นอกจากนี้ กระบวนการทำ securitization ยังเป็นการนำลูกหนี้รายย่อยทั้งประเภท prime และ subprime มารวมกันเพื่อเป็นหลักประกันในการออกตราสาร โดยละเลยที่จะทำ due diligence ตามที่ควร ทำให้ไม่ได้ตระหนักถึงจุดเปราะบางของลูกหนี้เหล่านี้

ปัญหาเรื่องจุดอ่อนของระบบการกำกับดูแลสถาบันการเงินนี้ ทางการทั่วโลกกำลังร่วมกันพิจารณาปรับปรุงกฎระเบียบให้เข้มงวดและรัดกุมขึ้นอยู่แล้ว ซึ่งช่วยให้มีความสบายใจได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผมเห็นว่าในระยะต่อไป ยังมีความท้าทายในการบริหารความเสี่ยงที่สืบเนื่องกับวิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนี้อยู่ เพราะปัจจัยที่ทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ ไม่ได้เกิดจากจุดอ่อนในด้านการกำกับดูแลสถาบันการเงินด้านเดียว แต่ปัจจัยที่ใหญ่และสำคัญที่สุดนั้น แท้จริงคือปัจจัยจากเศรษฐกิจมหภาค!

ปัญหาดังกล่าวเกิดจากการที่ประเทศจีนและประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ใช้นโยบายเศรษฐกิจที่เน้นการผลิตเกินกว่าที่ตนเองจะสามารถบริโภคภายในประเทศ และส่งออกส่วนที่ผลิตเกิน ส่งผลให้ประเทศในเอเชียเกินดุลการค้า แต่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้า

ปัญหานี้ขยายใหญ่โตจนกระทั่งสหรัฐฯ ขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้นอย่างมาก และในทางกลับกันประเทศจีนและประเทศอื่นๆ ในเอเชียเกินดุลอย่างมากเช่นกัน ถึงขั้นที่เรียกว่า “Global Imbalance” ซึ่งมีผลต่อเนื่องทำให้ตลาดการเงินบิดเบือน และนำไปสู่ฟองสบู่ขนาดมหึมาในที่สุด!

ต้นเหตุของปัญหาที่เกิดจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจมหภาคนี้ จำเป็นจะต้องได้รับการเปลี่ยนแปลงแก้ไข โดยแทนที่จะเน้นตลาดส่งออก โดยเฉพาะการพึ่งพาตลาดส่งออกสหรัฐฯ เป็นหลัก ประเทศในเอเชียจะต้องกลับมาเน้นการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ หรือการส่งออกเพื่อไปขายแก่ประเทศในภูมิภาคกันเอง

หากนโยบายเช่นนี้เกิดขึ้นแล้วล่ะก็ จะนำไปสู่การเชื่อมโยงระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียมากขึ้น โดยจะขยายจากการค้าสินค้าและบริการ ไปสู่ธุรกิจการเงินและตลาดทุนมากขึ้น ๆ เป็นลำดับ

ภาค 2 การเชื่อมโยงในภูมิภาคเพื่อลด Global Imbalance

ในความเห็นของผมแล้ว การเชื่อมโยงระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียจะเกิดขึ้นได้ ควรมีกระบวนการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นดังนี้

ประการแรก...จีนควรจะเป็นผู้นำประเทศในภูมิภาคที่จะปล่อยค่าเงินให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยให้ค่าเงินหยวนค่อย ๆ แข็งขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะมีผลชะลอการลงทุนขยายกำลังผลิตเพื่อส่งออก และเมื่อจีนปล่อยให้ค่าเงินของตนมีความยืดหยุ่นมากขึ้นแล้ว ประเทศในภูมิภาคซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ supply chain ร่วมกับจีนก็จะสามารถปล่อยค่าเงินของตนให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นได้ด้วย

ประการที่สอง...ประเทศในภูมิภาคควรจะเพิ่มการอุปโภคบริโภคภายในประเทศมากขึ้น ซึ่งการที่จะเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศได้นั้น สมควรจะต้องเปิดให้มีการเจรจาค่าแรงแบบเป็นกลุ่มมากขึ้น ยอมให้ค่าแรงปรับตัวสูงขึ้น เปิดให้คนงานมีกำลังซื้อมากขึ้น ซึ่งจะมีผลนำไปสู่การลงทุนเพื่อพัฒนาธุรกิจที่รองรับการอุปโภคบริโภคภายในมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจด้านการบริการ

ประการที่สาม...ประเทศในภูมิภาคควรจะเร่งรัดการพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เพื่อรองรับการอุปโภคบริโภคให้เร็วขึ้น เพราะการที่จะพัฒนาตลาดภายในประเทศได้นั้น จะต้องมีสถาบันการเงินที่ให้กู้แก่ธุรกิจขนาดเล็ก รวมไปถึงการให้กู้เพื่อการอุปโภคบริโภคแก่ลูกค้ารายย่อย แต่ในบางประเทศ เช่น ประเทศจีน สถาบันการเงินส่วนใหญ่เป็นของรัฐ และเน้นการให้กู้เฉพาะแก่ธุรกิจขนาดใหญ่

ประการที่สี่...ประเทศในภูมิภาคควรจะเร่งการเจรจาเพื่อเปิดตลาดระหว่างกันให้กว้างมากขึ้น ทั้งในด้านการค้าสินค้า และในด้านการค้าบริการ เพื่อจะให้มีตลาดรองรับการผลิตและส่งออกสินค้าแทนสหรัฐฯ และทำให้ธุรกิจในแต่ละประเทศสามารถขยายให้มีขนาดใหญ่เป็น regional champion และพร้อมจะไปแข่งขันในระดับสากลได้ในระยะยาว



ประการที่ห้า...ประเทศในภูมิภาคควรจะเร่งการเชื่อมโยงในด้านการเงินกันให้มากขึ้น ทั้งในด้านตลาดเงิน และตลาดทุน เพื่อจะรองรับการค้าขายระหว่างกันที่จะมีมากขึ้น และทำให้การระดมทุนข้ามชาติในภูมิภาคนี้เกิดขึ้น

สำหรับประเทศที่มีทุนสำรองสูก็ควรจะผ่อนคลายให้ประชาชนรายย่อยนำเงินออกไปลงทุนต่างประเทศให้มากขึ้น และควรจะมีการตั้งเป็นเป้าหมายให้ภูมิภาคนี้มีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการทำธุรกิจการเงินที่สามารถแข่งขันได้กับภูมิภาคอื่น ๆ ของโลกด้วย

ภาค 3 ความเสี่ยงที่ท้าทายจากการเชื่อมโยง

หากการกระบวนการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดเกิดขึ้นเมื่อใด จะทำให้เกิดความเสี่ยงใหม่ ๆ ขึ้นในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ที่อาจจะผันผวนมากขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ความเสี่ยงที่จะต้องบริหารหนี้ภาคครัวเรือนจากการอุปโภคบริโภคใกล้ชิดมากขึ้น ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการที่ผู้บริโภคจะมีการชำระเงินกันด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น

นอกจากนี้ ยังรวมถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการเชื่อมโยงในธุรกิจการเงิน ทั้งในด้านการเรียกร้องระหว่างภาคเอกชนกันเองในทางคดีแพ่ง หรือความยุ่งยากในการลงโทษข้ามพรมแดนในคดีอาญา รวมทั้งเรื่องปัญหามาตรฐานของการปฏิบัติงานในเรื่องต่าง ๆ ซึ่งยังจะต้องมีการหารือและปรับให้เป็นแนวทางเดียวกันมากขึ้น ๆ ด้วย

จึงอาจกล่าวได้ว่าการบริหารความเสี่ยงในสภาวะแวดล้อมใหม่ที่จะเกิดขึ้นนี้ จะมีความท้าทายเป็นอันมากทีเดียว

แต่ถ้าทั้งหมดนี้ยังไม่เกิดขึ้น...หมายความว่าจะยังไม่มีความท้าทายในเรื่องการบริหารความเสี่ยงในระยะต่อไปหรือเปล่า?

ผมยอมรับว่า ในขณะนี้ยังมีผู้สังเกตการณ์หลายรายที่เห็นว่ากระบวนการปรับตัวดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้นง่าย ๆ เพราะนับแต่เกิดวิกฤตครั้งนี้เป็นต้นมา แทนที่ประเทศจีนจะบริหารค่าเงินหยวนให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น กลับกลายเป็นตรงข้าม ในอดีตก่อนวิกฤตนั้น จีนยังยอมให้ค่าเงินแข็งขึ้นเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ บ้าง ถึงแม้จะทำแบบค่อยเป็นค่อยไปก็ตาม แต่ภายหลังเกิดวิกฤต จีนกลับไปบริหารค่าเงินโดยผูกไว้กับดอลลาร์สหรัฐฯ เกือบจะเต็มที่

หากการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของโลกยังเป็นไปเช่นเดิม จะเป็นความท้าทายสำหรับการบริหารความเสี่ยงอย่างมาก เพราะถ้าหากประเทศในภูมิภาคยังเน้นการส่งออกเต็มที่เหมือนเดิม การสะสมทุนสำรองก็จะเพิ่มขึ้นไปอีก

เมื่อทุนสำรองเพิ่มขึ้น หากประเทศต่างๆ ไม่นำไปลงทุนในสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ก็จะทำให้ดอลลาร์อ่อนลงได้ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อฐานะของทุนสำรองอย่างกว้างขวาง แต่หากนำไปลงทุนในดอลลาร์เช่นเดิม ก็จะมีความเสี่ยงก่อให้เกิดฟองสบู่ขึ้นมาอีกรอบหนึ่งได้

ซึ่งหากเกิดวิกฤตขึ้นอีกครั้งหนึ่งนั้น จุดที่เสี่ยงที่สุดจะไม่ใช่ระบบสถาบันการเงินในประเทศพัฒนาอีกแล้ว เพราะจะได้มีการแก้ไขกฎระเบียบและวิธีการกำกับดูแลไว้ดีขึ้น แต่ประเทศที่มีความเสี่ยงอาจจะเป็นประเทศกำลังพัฒนามากกว่า!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น