วันศุกร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2553

มาตรการกำกับสถาบันการเงินของ G20 ได้คำนึงถึงประเทศกำลังพัฒนาหรือยัง

ตีพิมพ์ใน น.ส.พ. กรุงเทพธุรกิจ  วันที่ 22 ต.ค. 2553

Financial Stability Board (FSB องค์กรที่ทำหน้าที่ติดตามความเสี่ยงระบบสถาบันการเงิน) ขณะนี้กำลังพิจารณามาตรการใหม่ ๆ หลายเรื่องเพื่อเสนอต่อที่ประชุม G20 ที่จะจัดขึ้นที่ประเทศเกาหลี แต่เนื่องจากสมาชิก FSB ส่วนใหญ่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว มาตรการเหล่านี้จึงยังไม่ครอบคลุมปัญหาที่สำคัญของประเทศกำลังพัฒนา


เรื่องแรกคือจะทำอย่างไรหากในอนาคตมีสถาบันการเงินข้ามชาติล้มอีก เพราะกรณีของ Lehman Brothers ตอกย้ำว่ากระบวนการในการชำระสะสางบัญชีนั้นยังยุ่งยากและกินเวลามาก

ในเรื่องนี้ Institute of International Finance ซึ่งเป็นตัวแทนของสถาบันการเงินข้ามชาติ ได้เสนอให้มีการพิจารณาจัดตั้งขบวนการเฉพาะกิจเพื่อสะสางและจัดสรรทรัพย์สินและหนี้สินที่มีกระจายอยู่ทั่วโลกอย่างเป็นระบบ โดยเปิดหน่วยงานกำกับสถาบันการเงินของทั้งประเทศแม่และประเทศที่สถาบันนั้นเข้าไปทำธุรกิจมาร่วมกันประชุมตัดสินใจ แต่มีคำถามว่าหากปริมาณธุรกิจที่มีอยู่ในประเทศกำลังพัฒนาประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นสัดส่วนที่เล็กเทียบกับสินทรัพย์รวม ก็ไม่ชัดเจนว่าประเทศกำลังพัฒนานั้นจะมีส่วนร่วมในขบวนการนี้ได้หรือไม่

กรณีของไทยได้ตระหนักถึงปัญหานี้เมื่อเริ่มมีข่าวว่า American International Group (AIG) ประสบปัญหาการเงิน เพราะ AIG มีลูกค้าธุรกิจประกันชีวิตรายย่อยในไทยเป็นจำนวนมาก หากต้องปิดกิจการและใช้เวลาชำระบัญชีนานจะมีผลกระทบอย่างกว้างขวาง รัฐมนตรีคลังจึงสั่งให้ผมศึกษาความเป็นไปได้ที่จะเจรจาให้คนไทยขอแยกซื้อธุรกิจเฉพาะในไทย แต่ผลปรากฏว่าทำไม่ได้เนื่องจากธุรกิจทำในรูปแบบของสาขาที่ไม่แยกออกจากนิติบุคคลโดยรวม

สำหรับรูปแบบของการทำธุรกิจข้ามพรมแดนนั้น นอกจากในรูปของสาขาแล้ว มีบางประเทศ เช่น มาเลเซีย ที่ได้กำหนดให้สถาบันการเงินต่างชาติต้องจดทะเบียนเป็นบริษัทลูกในมาเลเซีย ซึ่งกรณี AIG หากไทยได้ใช้รูปแบบนี้มาแต่ต้น ก็คงสามารถเจรจาให้สถาบันแม่ขายหุ้นในบริษัทลูกออกไปได้โดยง่าย

ในเรื่องนี้ หาก FSB ไม่สนใจหาทางออกให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา ก็คงจะมีหลายประเทศที่จะพิจารณาหันไปบังคับใช้รูปแบบบริษัทลูกกันมากขึ้น ๆ

เรื่องที่สองคือขณะนี้ทั่วโลกมีแนวนโยบายที่จะพยายามผลักดันให้การซื้อขายอนุพันธ์ที่ปัจจุบันซื้อขายระหว่างสถาบันกันเองแบบ over the counter เปลี่ยนไปเป็นซื้อขายผ่านตลาดที่มีการรวมศูนย์หักบัญชี เพื่อลดความเสี่ยงที่หากสถาบันหนึ่งปิดกิจการ จะได้ไม่มียอดหนี้คงค้างระหว่างสถาบันที่จะลากให้ล้มตามกันไปเป็นพรวน แต่ในประเทศกำลังพัฒนาจะมีปัญหาว่า สถาบันการเงินส่วนใหญ่ได้ค้าขายระหว่างกันมาเป็นเวลานาน และไม่มีแรงจูงใจที่จะเปลี่ยนไปซื้อขายผ่านตลาด

ในเรื่องนี้ FSB สามารถช่วยได้ หากมีการประสานงานเพื่อแก้ไขกฎระเบียบในการคำนวณอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง โดยกำหนดให้ยอดหนี้คงค้างจากการซื้อขายแบบ over the counter ต้องใช้น้ำหนักความเสี่ยงที่สูงเปรียบเทียบกับการค้าขายผ่านตลาด

เรื่องที่สามคือปัญหาของ hedge fund ปัญหานี้สืบเนื่องจากการที่ประเทศกำลังพัฒนามักจะมีความไม่สมดุลชั่วคราวเกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ ซึ่งต้องใช้เวลาแก้ไขช่วงหนึ่ง ปัญหาอาจจะเป็นเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนในกรณีของไทยในปี 2540 หรือเป็นเรื่องราคาพันธบัตรรัฐบาลในกรณีของกรีซในปีนี้ ประเทศกำลังพัฒนาจึงตกเป็นเหยื่อของ hedge fund อยู่เนืองๆ ซึ่งหากปล่อยให้ hedge fund ใช้ประโยชน์จากระบบการเงินของโลกเพื่อการนี้อย่างไม่มีการควบคุม ก็จะไม่เป็นธรรม

ในเรื่องนี้ FSB สามารถช่วยได้เช่นกัน โดยกำหนดให้สถาบันการเงินที่ให้กู้ยืมแก่ hedge fund ต้องคำนวณอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงโดยใช้อัตราที่สูงกว่าร้อยละ 150 ที่ใช้สำหรับลูกหนี้ค้างชำระ ซึ่งจะสะท้อนความเสี่ยงที่ถูกต้องเพราะ Hedge Fund ส่วนใหญ่มีการกู้ยืมจำนวนมากกว่าทุนของตนเป็นถึงสิบเท่า

เรื่องสุดท้ายคือประเทศกำลังพัฒนาที่ประสบปัญหาการเงิน หากไม่ประสงค์ที่จะเข้าโครงการของ IMF ก็ควรจะมีทางเลือกอื่นที่เหมาะสม ดังเห็นว่าในกรณีบริษัทเอกชนจะสามารถเข้าขบวนการของศาลฟื้นฟูเพื่อคุ้มครองจากเจ้าหนี้ได้ชั่วคราว และสามารถที่จะมี Hair cut เพื่อลดหนี้ได้ รวมทั้งสามารถที่จะกลับไปกู้เงินจากตลาดเงินได้ใหม่เมื่อฐานะดีขึ้น กรณีหนี้ของระดับประเทศก็ควรมีโอกาสเช่นนี้

มีคนสอบถามผมว่า หากในปี 2540 ประเทศไทยไม่เข้าโครงการ IMF จะต้องทำอย่างไร ในขณะนั้นเนื่องจาก ธปท. ได้ขายดอลลาร์ในทุนสำรองออกไปล่วงหน้าจำนวนมาก โดย hedge fund มีหน้าที่จะต้องนำส่งเงินบาทเป็นการแลกเปลี่ยน ดังนั้น การปิดตลาดเงินบาทนอกประเทศจึงต้องทำแบบต่อเนื่องโดยไม่มีกำหนดเวลา และต้องปิดแบบสิ้นเชิงอย่างที่ประเทศมาเลเซียดำเนินการ คือประกาศให้เงินบาทที่อยู่นอกประเทศไทยไม่มีมูลค่าใดๆ อีกต่อไป เมื่อทำเช่นนี้ hedge fund ที่จะส่งมอบเงินบาท ก็จะต้องมาซื้อโดยตรงกับ ธปท. เท่านั้นในอัตราแลกเปลี่ยนที่ ธปท. กำหนด

วิธีนี้จะทำให้ไทยได้ทุนสำรองคืนทั้งหมด และจะไม่กระทบโอกาสที่ประเทศไทยจะกลับไประดมเงินจากตลาดสากลในภายหลัง เนื่องจากไทยสามารถชำระหนี้ต่างประเทศได้เต็มจำนวนภายในเวลาสองปีอยู่แล้ว แต่จะมีข้อเสียคือต้องประกาศหยุดชำระหนี้ชั่วคราวเป็นเวลาสองหรือสามปี

ถามว่า FSB ควรจะยกเรื่องนี้ขึ้นพิจารณาหรือไม่ คำตอบคือสมควรอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศกำลังพัฒนาในอนาคตแล้ว ยังจะสามารถนำมาใช้แก้ปัญหาในยุโรปที่มีอยู่ในปัจจุบันได้ด้วย

หาก FSB และ G20 ไม่สนใจแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ก็เป็นที่น่าเสียดายว่าไม่ได้ใช้วิกฤตครั้งนี้เป็นโอกาสเท่าที่ควร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น