วันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2553

สัมภาษณ์พิเศษ : "ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล" มุมมองที่เปิดกว้างในการกำกับและพัฒนาตลาดทุนไทย

ต้องยอมรับว่า ช่วง 1-2 ปีจากนี้ถือว่าเป็นการเปลี่ยนผ่านสำหรับตลาดทุนไทยไปสู่การเปิดเสรีใบอนุญาตในปี 2555 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ถือเป็นหน่วยงานหลักที่มีบทบาทในการผลักดันตลาดทุนไทยไปสู่การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ ท่ามกลางกระแสการพัฒนาและปรับตัวของตลาดทุนทั่วโลก เพื่อรองรับการเคลื่อนย้ายของเงินทุนหลังจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเริ่มตั้งแต่วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ลุกลามมาถึงวิกฤตการเงินยุโรป ตลาดทุนในย่านอาเซียนเองก็ต้องปรับตัวให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์โลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงเช่นกัน วันนี้ Special Interviews มีโอกาสได้พูดคุยกับ "คุณธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล" เลขาธิการ ก.ล.ต. และ "คุณทิพยสุดา ถาวรามร" ผู้ช่วย เลขาธิการ ก.ล.ต.ซึ่งเป็นแรงสำคัญในการผลักดันให้เกิดการรวมตัวกันของตลาดทุนในกลุ่มอาเซียน ภายใต้ “Asian Exchange Linkage”


*** กลต. มีการวางกรอบของการพัฒนาตลาดทุนไทยอย่างไรบ้าง


คุณธีระชัย : การพัฒนาตลาดทุนไทย จะมองเฉพาะตลาดหุ้นอย่างเดียวคงไม่ได้ มันจำเป็นจะต้องมีตลาดอื่นที่จะเข้ามาเสริมทัพด้วย เช่นตลาดอนุพันธ์ที่จะทำให้เห็นการโตและความหลากหลายของสินค้ามากขึ้น รวมถึงตลาดตราสารหนี้ของไทยก็ต้องเห็นการขยายตัวที่มากขึ้นกว่านี้อีกมาก ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่เราต้องหาทางพัฒนา แม้แต่ตลาดหลักทรัพย์ก็ยังคงมีปัญหา โดยเฉพาะกรณีบริษัทรัฐวิสาหกิจที่จะเข้ามาเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เกิดความล่าช้า ซึ่งคงเป็นเรื่องที่ตลาดหลักทรัพย์จะต้องพิจารณาว่าจะต้องปรับตัวอย่างไร จึงจะอยู่ในสายตาของนักลงทุนต่างประเทศในอนาคต โดยปัญหาหลักที่ยังคงเกิดขึ้นกับตลาดหลักทรัพย์ไทยขณะนี้ คือนักลงทุนส่วนใหญ่ยังเป็นรายย่อย ดังนั้นต้องคำนึงว่าจะต้องปรับตัวอย่างไรที่จะทำให้สัดส่วนนักลงทุนสถาบันเพิ่มขึ้น ซึ่งถือเป็นโจทย์สำคัญที่เราจะเดินหน้าปรับกันต่อไป

คุณวิชุดา : ส่วนตัวมองว่าการทำตัวไม่ให้ตกกระแสจากความสนใจของนักลงทุนต่างชาติ คงจะต้องพัฒนาร่วมกัน ซึ่งถ้ามาดูตลาดหุ้นในแถบอาเซียนคงเป็นตลาดที่มีขนาดเล็ก ๆ อาจจะไม่มีคนสนใจ แต่ถ้ามารวมตัวกันจะกลายเป็นที่ 15 ของโลก จริงๆก็เคยมีแนวคิดที่ว่าควรมารวมกันในอาเซียนหรือผนึกกำลังกันเพื่อต่อสู้กับภูมิภาคอื่นในโลกนี้ให้ได้ ซึ่งจะเป็นการรวมตัวกันเพื่อที่จะอยู่รอดหรือให้ดีขึ้น แทนที่จะต่างคนต่างทำควรจะเกาะกลุ่มไว้ ซึ่งก็เป็นความจำเป็นอีกอันที่ทำให้เกิดแนวคิดเรื่องการเปิดการเชื่อมโยง

***การรวมตัวกันภายในกลุ่มอาเซียนขณะนี้มีพร้อมมากแค่ไหน

คุณธีระชัย : เรื่องของการรวมกัน ก.ล.ต. ภายในอาเซียนเราได้มีการประชุมร่วมกันอยู่แล้วทุก 6 เดือน และก็ได้นำเสนอแผนไปให้แก่รัฐมนตรีคลังอาเซียน ซึ่งล่าสุดเสนอไปตั้งแต่เมื่อเดือนเมษายนปีที่ 2552 เรามีการทำแผนเพื่อที่จะมีการเชื่อมโยงตลาดทุนของอาเซียนเข้าด้วยกันให้ผนึกกำลังได้มากขึ้น แผนอันนั้นตอนที่เสนอไป ท่านรัฐมนตรีกรณ์ (นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง )เป็นประธานของรัฐมนตรีคลังอาเซียนในขณะนั้น ก็เห็นชอบ คณะที่ประชุมอาเซียนก็เห็นชอบที่จะให้เดินหน้าตามแผน ที่พร้อมจะเปิดให้มีการเชื่อมต่อตลาดหุ้นในอาเซียน โดยใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่เรียกว่า Common Gate Way คือ นักลงทุนต่างประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักลงทุนสถาบันในต่างประเทศ ต่อไปจะเข้ามาในตลาดอาเซียน ก็จะเข้ามาเป็นประตูเดียวในระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งหลังจากนั้นนักลงทุนจะเลือกเข้าไปลงทุนยังตลาดหลักทรัพย์ประเทศใดในกลุ่มสมาชิกก็สามารถทำได้คล่องตัวมากขึ้น ซึ่งแนวคิดดังกล่าวเคยทำขึ้นในประเทศแถบนอร์ดิกส์ คือ ประเทศสวีเดน เดนมาร์ค ปรากฏว่า ทำแล้วได้ผลดี นักลงทุนระดับสากลก็สามารถมีโอกาสที่จะเข้ามาลงทุนได้สะดวกขึ้น ขณะที่การเชื่อมโยงจะใช้คำว่า “Asian Exchange Linkage”

***ความคืบหน้าของการรวมตัวกันในกลุ่มอาเซียนไปถึงไหน แล้วพบปัญหาหรือจุดบกพร่องตรงไหนบ้างหรือไม่

คุณธีระชัย : เวลานี้ได้เดินหน้าแล้วโดยตลาดหุ้นหลักๆ ประมาณ 6 ตลาดของประเทศใหญ่ ซึ่งถือเป็นความร่วมมือที่ดี แต่ก็มีปัญหาบ้างจากการที่ตลาดหุ้นในบางประเทศอาจจะต้องใช้เวลาที่จะแก้ไขกฎระเบียบบางอย่างหรือกฎหมายภายใน ถ้าทำได้ตามกรอบระยะเวลา จะทำให้นักลงทุนต่างประเทศมองสินค้าทางการเงินภายในอาเซียนลักษณะของสินค้า “asset class” จากเดิมเขาอาจจะไม่คำนึงหรืออาจจะนึกถึงเป็นรายประเทศเดี่ยวๆ แต่ตอนนี้ต่างชาติจะมองเป็น Class จะทำให้ทุกๆ ประเทศขึ้นมาอยู่ในระดับเดียวกัน และทำให้เกิดความสะดวกในการที่จะเข้ามาลงทุน

อย่างไรก็ตาม เราควรมองให้รอบคอบซึ่งยังคงมีอีกมิติหนึ่ง คือการที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจใหญ่ในครั้งนี้ ทำให้มีหลายฝ่ายวิเคราะห์กันว่ามันจะเปลี่ยนสภาพแวดล้อมในระดับสากล ซึ่งหากมองไปข้างหน้า 10 ปี จะเห็นว่าตลาดทุนในประเทศเดิม ๆ ที่จะต้องเป็นชั้นนำหรือในอเมริกา และยุโรปจะเริ่มมีความแข็งแกร่งลดลง ดังนั้นจึงกลายเป็นจังหวะที่ตลาดทุนของประเทศอื่นในโลกจะแทรกตัวออกมาและมีบทบาทที่สำคัญมากขึ้น ซึ่งถ้าเราจัดขบวนการให้ตลาดอาเซียนเพื่อให้เกิดความแข็งแกร่งผนึกกำลังกันอาจจะเป็นจังหวะที่ดีที่แทรกตัวขึ้นมาและมีบทบาทที่สำคัญมากขึ้น ตัวอย่างที่มีก็คือ ยุโรปที่มีการเชื่อมโยงและเวลานี้มีการเชื่อมโยงมากขึ้นเรื่อย ๆ ในทุกส่วน ทั้งการใช้ Plat form ในการค้าขาย ส่วนของ Front Room และรวมถึงระบบการชำระเงิน ชำระหลักทรัพย์ที่เรียกว่า “Back Room” ในอาเซียนเราก็พยายามตามยุโรปโดยเฉพาะการควบคุมต้นทุนให้ต่ำลง

คุณวิชุดา : ส่วนความคืบหน้าของ “Exchange Linkage” ทางตลาดหลักทรัพย์ก็จะมี Working Group ร่วมกันในกลุ่มตลาดหลักทรัพย์อาเซียน ล่าสุด ก็มีการเซ็นสัญญาเลือก 2 ตลาดแรกคิดว่าเหมาะสมแล้วคือ ไทยกับมาเลเซียจะเป็นคู่แรกที่จะรวมตัวกันในต้นปี 2554 แล้วในปีเดียวกันนี้สิงคโปร์ก็ตามมา ก่อนที่ในปี 2555 ฟิลิปปินส์จะเข้ามาร่วมด้วย ส่วนเวียดนามกับมาเลเซียตอนนี้ก็พยายามลุ้นให้เข้ามาร่วมกันตามกำหนด ซึ่งเขาอยู่ในกระบวนการแก้ไขกฎหมาย โดยเป้าหมายแรกภายในปีนี้ก็มี ETF ของประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนมารวมกัน เช่น ETF ในมาเลยเซียมา List ที่ไทย ในทางกลับกันก็ให้ ETF ของเราไป list ที่อื่นได้

*** การรวมกลุ่มกันในอาเซียนที่เรียกว่า Asian Exchange Linkage จะช่วยเอื้อประโยชน์ให้แก่นักลงทุนสถาบันหรือรายย่อยอย่างไร

คุณวิชุดา : ที่จริงจะได้ประโยชน์ในทุกกลุ่มทั้งสถาบันและรายย่อย แต่ส่วนใหญ่กลุ่มสถาบันน่าจะได้รับประโยชน์มากกว่า เช่น Global Fund Manager อาจจะนั่งอยู่มุมเดียวก็สามารถมองเข้ามาเห็นตลาดอาเซียน มองจอเดียวก็มองเห็นของทั้งอาเซียนได้เลย จะสะดุดตามากขึ้น มากกว่าที่จะมานั่งมองจ้อง 5 Screen 6 Screen ขณะที่นักลงทุนรายย่อยอาจจะนั่งอยู่บ้านซื้อหุ้นที่สิงคโปร์หรือมาเลเซียตามวงเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)อนุญาต ซึ่งจะทำให้ส่งคำสั่งจากที่บ้านได้เลยแทนที่จะส่งโบรกเกอร์ให้ไปติดต่อโบรกเกอร์ในมาเลเซีย

***มีทีมศึกษาในแง่ของความได้เปรียบเสียเปรียบหรือไม่ หากเกิดการรวมตัวกันในกลุ่มอาเซียน

คุณธีระชัย : อันนี้ถือเป็นจุดที่ทุกคนในไทยที่ทำธุรกิจหลักทรัพย์รวมตัวกันที่จะศึกษา ซึ่งต้องเข้าใจว่า ย่อมมีผู้ที่ได้เปรียบเสียเปรียบ ซึ่งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นไม่ใช่แค่บริษัทโบรกเกอร์แต่อาจลามไปถึงบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน และแม้แต่ตัวตลาดหลักทรัพย์เองหรือพวกที่ค้าขายตลาดตราสารหนี้และแม้กระทั้งตลาด Futures ก็มีทั้งที่ได้เปรียบและเสียเปรียบเป็นธรรมดา เพราะการเปิดให้มีการเชื่อมโยงมากขึ้นก็หมายถึงจะทำให้การแข่งขันเข้มข้นมากขึ้นตามไปด้วย แต่ว่าโชคดีที่ตลาดหลักทรัพย์เราได้รับการปกป้องจากกระแสพายุครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นนอกบริเวณ ซึ่งเรามีระบบบริหารอัตราแลกเปลี่ยน(Exchange Control) ทำให้คนไทยนำเงินออกไปลงทุนนอกประเทศได้น้อย

ขณะเดียวกันสินค้าในประเทศเราก็ยังไม่หลากหลายพอ ที่จะทำให้นักลงทุนเอาเงินโยกไปโยกมาได้อย่างเต็มที่ แต่ในอนาคตกำลังจะเปลี่ยนไปหากเกิดการรวมกัน ซึ่งแต่ละประเทศในอาเซียนก็มีความจำเป็นต้องลด Exchange Control หากเงินไหลมากขึ้นก็ต้องปล่อยให้เป็นไป ไม่อย่างนั้นอาจมีผลกระทบต่อค่าเงินบาทให้แข็งค่าขึ้นได้ เหมือนกับการที่เราปิดกั้นไม่ให้ลมจากต่างแดนเข้ามา และผลิตภัณฑ์ที่มีการพัฒนาให้หลากหลายมากขึ้นเก็งกำไรได้มากขึ้น ซึ่งเราต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงของโลกนำไปสู่การแข่งขัน โดยเราต้องวางแผนแต่เนิ่น ๆ ว่าในส่วนไหนที่เราได้เปรียบก็ต้องเตรียมรุกเต็มที่ ส่วนไหนที่เสียเปรียบเราต้องเตรียมหามาตรการที่จะปรับตัว แต่นี้ไม่ใช่หน้าที่ของก.ล.ต. เพราะเราไม่ใช่นักธุรกิจ เราก็ไม่สามารถมองได้ เพียงแต่เราถอยออกมาในเรื่องของกฎระเบียบทำให้ทุกอย่างมันง่ายและคล่องขึ้นที่เราจะปรับตัว ใครจะปรับหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคนคิด

คุณวิชุดา: อีกทางหนึ่งผู้ลงทุนกับผู้ระดมทุนจะเป็นคนที่ได้ประโยชน์ ในขณะที่ตลาดหลักทรัพย์จะเห็นการแข่งขันที่จะมาระดมทุน เนื่องจากผู้ระดมทุนไทยจะมีทางเลือกมากขึ้น โดยจะเลือกไปตลาดที่ให้ราคาดีกว่าและผู้ลงทุนเองก็มีทางเลือกมากขึ้นและกระจายความเสี่ยงมากขึ้น

***หมายถึงว่าการวางนโยบายเราควรมองจุดได้เปรียบเสียเปรียบของบุคคลในทุกกลุ่ม

คุณธีระชัย :ใช่ ประเด็นหลักหมายความว่าในการวางนโยบายเราจะมาคิดถึงว่าใครจะได้ประโยชน์ใครจะเสียประโยชน์ ดูเฉพาะนักธุรกิจไม่ได้ เราต้องถอยมาและดูโดยรวม ดูทั้งผู้ออมและบริษัทจดทะเบียนที่ระดมทุน ไม่ใช่ดูเฉพาะโบรกเกอร์ ตลาดหลักทรัพย์ หรือ Futures

***มองผลกระทบที่เกิดจากการเปิดเสรีธุรกิจหลักทรัพย์ อย่างไร สภาพตลาดจะมีแนวโน้มไปในทิศทางใดภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต.

คุณธีระชัย : การที่ทำให้ตลาดไทยแข่งขันกันคนอื่นได้ วิธีที่ดีที่สุดคือทำให้ต้นทุนในการทำธุรกิจเปรียบเทียบกันคนอื่นไม่แพงจนเกินไป วิธีทำให้ไม่แพงเกินไปคือให้เกิดการแข่งขันเสรี เช่นการแข่งขันในแง่กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมไม่ให้แพงเกินไป แข่งขันในการหาสินค้าใหม่ สินค้าบริการที่ดีขึ้น เพราะฉะนั้นแนวนโยบายที่เปิดให้มีการแข่งขันเสรี ทั้งการให้ใบอนุญาต ที่มีการกำหนดอัตราค่าคอมมิชชั่นขั้นบันไดจะช่วยควบคุมได้ แต่การดำเนินการก็เป็นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเราประกาศเรื่องนี้มาประมาณ 3 ปีแล้ว ให้เวลาล่วงหน้าในการคิด การอ่านที่เตรียมตัวแก้ไขเรื่องต่าง ๆ การประกาศล่วงหน้า 5 ปี เราก็ให้เวลาวางแผนแก้ไขพอสมควร เรื่องการเปิดเสรีให้มีการกระตุ้นการแข่งขันยังเป็นองค์ประกอบหลักของแผนอนาคต

***ระเบียบต่างๆ เตรียมพร้อมสำหรับการเปิดเสรีแล้วหรือยัง

คุณธีระชัย : การที่เราบอกว่า เราเปิดเสรีใบอนุญาตจะทำให้เกิดการแข่งขันกันขึ้นมาก สิ่งที่เราพยายามให้สัญญาณไปว่า นักธุรกิจทั้งหลายใครคิดอะไรได้ แล้วคิดว่าจะเกิดธุรกิจใหม่ ถนนจะขยาย รถก็จะวิ่งได้คล่องตัวขึ้น มาคุยได้เลย ก.ล.ต.พร้อมที่จะแก้ไขกฎระเบียบ อะไรเป็นอุปสรรคเราก็พยายามถอยออกมา อะไรที่ต้องแก้ไขพร้อมที่จะช่วยส่งเสริมเราก็พร้อมที่จะทำ ซึ่งระบบนี้เรากำลังประสานทั้งตลาดหลักทรัพย์และโบรกเกอร์ทั้งหลาย รวมทั้ง บลจ. ทุกครั้งที่เราประชุมกับทางสมาคม บล.เราพยายามจะสื่อสารประเด็นนี้ออกไป

***กฎระเบียบพวกนี้มีการเกี่ยวข้องกับค่า license ไหม

คุณวิชุดา : ค่าใบอนุญาตเราก็แก้ไขไปพร้อมกฎกระทรวงให้มีผลบังคับใช้ 1 มกราคม 2555 จริงๆ เราออกกฎกระทรวงมาตั้งแต่ปี 2550 หรือ 2551 ซึ่งเป็นกฎที่เปิดให้บริษัททำธุรกิจครบวงจร ซึ่งของเดิมต้องมาขอทีละใบ ก็นำใบอนุญาตต่างๆมารวมกันในใบเดียว และบริษัทหลักทรัพย์ในปัจจุบันสามารถที่จะมาอัพเกรดใบของตัวเองอันเดิมให้เป็น Full license ครบวงจรได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไรเพิ่ม เพราะเขามีใบอนุญาตอยู่แล้ว แต่พอปี 2555 เราจะเปิดให้รายใหม่มาขอใบอนุญาตได้ด้วย และก็จะมีค่าใบอนุญาตของธุรกิจประเภทนี้กำหนดไว้ที่ 20 ล้านบาท ซึ่งก็ถือว่าลดลงมามากจากเดิมที่สมัยก่อนใบอนุญาต คือ 100 ล้านบาท

***ทาง ก.ล.ต.มีเกณฑ์การดำรงสินทรัพย์อย่างไร

คุณวิชุดา : เกณฑ์จริงๆ แล้วจะเข้มขึ้น คือเมื่อพูดถึงเปิดเสรี เรามองถึงการแข่งขัน เราเปิดให้ถนนวิ่ง แต่ว่าเราไม่ได้บอกว่าเราจะหย่อนยานการกำกับดูแลความเสี่ยง เพราะเราก็รู้ว่าเปิดพวกนี้มันก็มีความเสี่ยงมาด้วย เราก็ติดตามความเสี่ยงของโลกว่าเขาพัฒนาไปถึงไหน มีอะไรที่เป็นข้อบกพร่องที่เป็นความเสี่ยงอยู่ เราก็ติดตามไม่แพ้กัน ถือว่ากฎเกณฑ์ของเราก็ได้มาตรฐาน แต่ส่วนที่เราต้องพยายามทำให้ได้ เช่น ตลาดหลักทรัพย์ต้องเผชิญกับการแข่งขันว่าจะทำเชื่อมโยงตลาดกับตลาดหุ้นอื่น คนก็จะไปซื้อสินค้าในตลาดอื่นได้ง่ายขึ้น แล้วจะมีหน่วยงานขึ้นมากำกับดูแลอีกอันไหม เพราะตลาดหลักทรัพย์ฯ กำลังเข้าสู่กระบวนการแปรรูป ดังนั้นต้องมีคนที่จะมาดูแลเป็นคนกลางของตลาดไหม

ซึ่งเดิมก.ล.ต.เป็นคนดูแลอยู่แล้ว โบรกเกอร์เราก็กำกับโบรกเกอร์โดยตรง ในส่วนหนึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯเขาก็กำกับเฉพาะพฤติกรรมการเข้าถึง ระบบซื้อขายของเขามากกว่า แต่ว่าเมื่อมีการแปรสภาพตลาดไปเป็นบริษัท แล้วเอามาจดทะเบียน เราคงไม่ยอมให้ตลาดหลักทรัพย์ดูแลการ list หุ้นของตัวเอง เราคงเอามาดู แต่ว่างานหลักปัจจุบันที่กำกับบริษัทหลักทรัพย์ ก.ล.ต.ก็ประกาศอยู่แล้วค่อนข้างมาก ซึ่งอาจจะต่างกับตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ ที่เขามีหน้าที่เป็น HRO เยอะกว่าตลาดบ้านเรา เป็นคนกำกับดูแลสมาชิกมากกว่าที่ตลาดหลักทรัพย์ฯทำ

****ก.ล.ต.เกี่ยวข้องกับการแปรรูปของตลาดต้องไปกำกับดูแลส่วนไหนบ้าง

คุณวิชุดา : ตามร่างกฎหมายที่เสนอกัน จะมีคณะกรรมการแปรสภาพ ซึ่ง ก.ล.ต.ไม่ได้เป็นส่วนใหญ่ในนั้น องค์ประกอบส่วนหนึ่งมาจาก ก.ล.ต. ส่วนหนึ่งมาจากตลาดหลักทรัพย์ฯแล้วคณะกรรมการในนั้นจะเป็นผู้ตัดสินใจเสนอแผนมาให้คณะกรรมการก.ล.ต.ดู ก่อนที่จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี พิจารณาอีกทีหนึ่ง

ส่วนทรัพย์สินของตลาดหรือหนี้สินของตลาด ส่วนไหนจะไปอยู่กับตัวตลาดหลักทรัพย์ ส่วนไหนควรจะแยกไปอยู่ในกองทุนเพื่อการพัฒนาตลาดทุน คือการแบ่งแยกทรัพย์สิน ควรจะจัดสรรหุ้นกันอย่างไร คือจะมีคณะกรรมการขึ้นมาเสนอแผนอีกครั้ง เดิมกฎหมายกำหนดไว้ประมาณ 180 วัน เดี๋ยวนี้ลดลงมาเยอะแล้ว จากการที่คุยกับกระทรวงการคลัง เวลานี้ยังไม่ได้ข้อสรุปสุดท้ายแต่ว่าจะส่งมาให้คณะกรรมการก.ล.ต.พิจารณาอีกครั้ง แล้วก็ส่งต่อไปให้คณะรัฐมนตรีเป็นคนตัดสินใจสุดท้าย ก.ล.ต.ก็จะมีส่วนร่วมในการเป็นคณะกรรมการในช่วงของการแปรสภาพ

***อะไรคือเหตุผลที่แปรสภาพตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

คุณธีระชัย : เราก็ต้องเข้าใจก่อนว่า ตลาดหลักทรัพย์มีมาก่อนออกกฎหมายหลักทรัพย์ แล้วพอมีการออกกฎหมายหลักทรัพย์ ได้เขียนในกฎหมายว่า การทำธุรกิจ ตลาดหลักทรัพย์ห้ามมีคนอื่นเข้ามาแข่ง คือให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นคนทำธุรกิจนี้เพียงผู้เดียว ปัจจุบันนี้ประเทศที่ตลาดหลักทรัพย์ไร้คู่แข่งเหลือน้อยมาก อาจจะระยะแรกที่อยากให้ตลาดหลักทรัพย์ไม่มีคู่แข่ง แต่พอไปถึงจุดหนึ่ง แล้วก็จะต้องกลับมาถามว่าประเทศจะได้ประโยชน์อะไร จากการที่ตลาดไม่มีคู่แข่ง หรือการที่ตลาดมีคู่แข่ง และอย่างไหนจะได้ประโยชน์มากกว่ากัน ซึ่งเมื่อถึงจุดหนึ่งทุกประเทศต้องการให้ตลาดหลักทรัพย์ของตนมีคู่แข่ง นี่คือจุดเริ่มต้นจึงต้องไปแก้กฎหมาย เพื่อที่จะให้เกิดการเข้ามาแข่งขัน

ขณะที่การแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้น พอเรายกเลิกระเบียบของการปริวรรตทำให้คนไทยไปลงทุนต่างประเทศโดยตรงมากขึ้นซึ่งเขาอาจจะไปซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์อื่นแทนที่จะซื้อในตลาดหลักทรัพย์ไทย เพราะฉะนั้นผมคิดว่าการแข่งขันมันจะทำให้มีการปรับตัวในลักษณะที่ดี มีประสิทธิภาพมากขึ้น

***ก.ล.ต.มีส่วนผลักดันนวัตกรรมใหม่ๆอย่างไรบ้าง

คุณธีระชัย : อันดับแรก เราก็พยายามจะสนับสนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้คิดอะไรใหม่ๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมีบทบาทสำคัญที่สุดก็คือ ตลาดหลักทรัพย์ หน่วยงานที่มีบทบาทรองมาคือบริษัทโบรกเกอร์ บริษัทจัดการกองทุนรวม หน่วยงานใดก็ตามเวลามีไอเดียใหม่ๆ หรือนวัตกรรมอะไรใหม่ๆ มาคุยกับเราได้เลย เราพร้อมที่จะพิจารณาแก้ไขกฎระเบียบหากเห็นว่าส่งผลดี แต่ก็ต้องยอมรับว่าบางครั้งมีความจำเป็นจะต้องขอความเห็นชอบไปถึงระดับคณะรัฐมนตรี

อีกทั้งสินค้าใหม่อาจมีความซับซ้อนในเรื่องภาษีซึ่งถือเป็นเรื่องที่ต้องมาพิจารณา ซึ่งเราก็ต้องพยายามประสานงานที่จะหาทางเคลียร์เรื่องเหล่านี้แต่ผมก็ยังคงมองว่าเวลานี้เราอยู่ในแนวความคิดที่ทุกคนพร้อมให้การสนับสนุนเรื่องนวัตกรรมใหม่ๆ

***อยากให้ขยายความถึงมาตรการคุ้มครองผู้ลงทุนในลักษณะ class action

คุณธีระชัย :ในต่างประเทศจะมีแนวอย่างนี้ว่าผู้ถือหุ้นรายย่อย เวลาเขามีความรู้สึกว่าบริษัท โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริหารบริษัท ทำให้เขาได้รับความเสียหาย เขาก็จะต้องฟ้อง คือเวลานี้ ถ้าหากผู้ถือหุ้นได้รับความเสียหาย หรือคิดว่าตัวเองไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งในต่างประเทศเวลาเขาได้รับความเสียหายเขาต้องการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้ แต่ในประเทศไทยการที่มาฟ้องร้อง ก.ล.ต. ไม่ได้รับค่าเสียหาย ทำได้เพียงลงโทษกันไป ก็อาจเป็นการทำให้หลาบจำ

ขณะที่อีกหนึ่งปัญหาคือ เวลาผู้ถือหุ้นรายย่อยฟ้องเรียกค่าเสียหาย ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีสูงมาก เพราะว่าต้องใช้นักกฎหมายที่มีความรู้ในทางเรื่องธุรกิจที่กว้างขวางที่ลึกซึ้ง ซึ่งค่าใช้จ่ายตรงนี้ค่อนข้างจะแพง เพราะฉะนั้นต่างประเทศเขาก็จะเปิดให้ใช้ลักษณะที่เรียกว่า class action ก็คือว่า ผู้ถือหุ้นใครสักคนที่มีไอเดียก็ไปเรียกทนายความ พอจะเห็นแนวแล้วเริ่มดำเนินได้ก็จะไปเรียกผู้ถือหุ้นรายอื่น ที่อยู่ในสภาวะเดียวกัน แล้วก็เข้ามาร่วมแชร์ค่าใช้จ่าย และเมื่อชนะคดีได้รับเงินค่าเสียหายกลับคืนมาก็มาแบ่งกัน เพราะฉะนั้นในเวลานี้เมืองไทยเรากำลังจะออกกฎหมายในส่วนนี้ออกมา ซึ่งที่ผ่านมาได้เสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเขามองว่าเป็นแนวคิดที่ดี และอยากจะนำไปปรับใช้กับส่วนอื่นด้วยไม่ใช่แค่กับตลาดทุน ซึ่งผมจำเป็นต้องนำกลับมาพิจารณาให้สามารถใช้ได้กว้างมากขึ้น ดังนั้น จึงต้องใช้ระยะเวลาในการร่างก่อนซึ่งขณะนี้ยังไม่เสร็จเลย

***หน้าที่ในการกำกับดูแล ก.ล.ต.โฟกัสตรงจุดไหน

คุณธีระชัย : อันนี้พูดง่ายๆ ว่า ก.ล.ต. หน้าที่ก็คือว่า กำกับให้การทำธุรกิจในตลาดทุนมันมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย มีความเป็นธรรม สิ่งที่เราทำมันไม่ใช่เรื่องของความผิดทางกฎหมายอาญาทั่วไป มันเป็นเรื่องของการทำธุรกิจ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ทาง ก.ล.ต.ออก ก็คือว่าออกกฎระเบียบเพื่อกำกับกระบวนการในการทำธุรกิจ การออกกฎระเบียบ ถ้าคุ้มครองมากไป มันก็ไปสร้างภาระค่าใช้จ่าย ให้แก่ทางธุรกิจที่เกี่ยวข้อง หลายประเทศเขาก็จะระมัดระวังเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นการวางกฎระเบียบต่างๆ ต้องมีการคำนวณถึงค่าใช้จ่ายแล้วก็ผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น ขณะนี้เรากำลังจะเอามาใช้ให้มากขึ้นโดยเราควรจะกำกับดูแลในลักษณะที่พอดี ไม่ไปสร้างค่าใช้จ่ายและภาระให้กับคนที่เกี่ยวข้องมากเกินไป แต่ก็ทำให้คนที่เกี่ยวข้องมีการได้รับความคุ้มครองที่ดีระดับหนึ่ง

***สิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการให้ตลาดทุนไทยเป็นแหล่งระดมทุนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

คุณธีระชัย : วิธีป้องกันก็คือว่า เราพยายามที่จะคิดล่วงหน้าให้มากที่สุด ไปไกลที่สุดเท่าที่เราสามารถคิดได้ว่า กรณีอย่างนี้ ถ้ามันเกิดกรณีที่เลวร้ายที่สุดขึ้นมาจะมีผลเป็นอย่างไร แล้วก็พยายามออกกฎระเบียบไว้ล่วงหน้าไม่ใช่ว่าเมื่อมีปัญหาแล้วจึงมาออกกฎ เพราะจะยิ่งเป็นการซ้ำเติม ซึ่งเราก็ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับตลาดทุนขึ้นมา ปัจจุบันมีผู้เชี่ยวชาญที่เคยทำงานภาคเอกชนมานั่งอยู่ในคณะกรรมการชุดดังกล่าว 3 ราย โดยบทบาทหน้าที่ คือ มองไปข้างหน้า ไม่จำเป็นจะต้องไปออกกฎระเบียบในช่วงเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน

คุณวิชุดา : บางทีออกไว้ก่อนก็หลีกเลี่ยงความเสี่ยงได้ อย่างเช่น ตลาดฟิวเจอร์ส ที่กลไกอยู่ที่ลูกค้าต้องมีหลักประกันวาง ถ้าเผื่อขาดทุน เราต้องบังคับวางเพิ่ม cut loss ไม่งั้นจะสะสมความเสี่ยงไว้ในระบบ ซึ่งขบวนการดังกล่าวอาจมีส่วนทำให้ตลาดหุ้นตกได้ ตัวอย่างมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย มีเกณฑ์ให้ธนาคารพาณิชย์ที่มีฐานะทางการเงินที่ดีให้กันสำรองไว้เยอะๆ พอถึงเวลาที่เกิดวิกฤตจะไม่ต้องเดือดร้อน อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า การวางกฎตลาดทุนเป็นเรื่องที่คาดการณ์ยากเหมือนกัน เพราะทุกอย่างมันต้อง Mark to Market ที่มีการพูดถึงในอาเซียน ถ้าเป็นประเทศอื่นในช่วงขาลงก็ยังระดมทุนได้ แต่เมืองไทยขาลงระดมทุนไม่ได้ ซึ่งถือเป็นจุดที่ต้องคิดอีกแง่มุมหนึ่ง เมืองไทยตลาดมัน One Way พอเวลาทุกคนเห็นดีงาม ก็จะดีงามพร้อมกันหมด พอเวลาทุกคนเห็นมันไม่ได้เรื่องก็กลายเป็นไม่ดี และถึงตอนนั้นใครอยากจะลงทุน จะเข้ามาหาอะไรจากระบบนี้ยาก

***เราจะแก้ปมตลาด One Way ได้อย่างไร

คุณวิชุดา : ตรงนี้แก้ได้โดยการมีโปรดักส์ มีสินค้าหรือมีขบวนการค้าขายที่ทำให้คนสามารถเห็นแย้งมันจะง่ายขึ้น เช่น ถ้าหากจะเปิดให้ short ในเรื่องโน้นเรื่องนี้ ได้ง่ายขึ้น ในเวลานี้เรามีแล้วตลาดซื้อขายสินค้าล่วงหน้า ที่ถ้าใครเล็งว่าราคาจะตกก็สามารถที่จะขายล่วงหน้าออกไปได้ อันนี้ถ้ายิ่งมีมาก ก็ยิ่งเห็นตลาดสองทาง ที่คอยจะสู้กันอยู่เสมอได้ง่ายขึ้น อันนี้เป็นหน้าที่ของเรา ก็จะพยายามทำความเห็นสองทางมันเจอกันได้ง่ายขึ้น

***การเตรียมการของ ก.ล.ต. เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ทั้งทีมงาน หรือเทคโนโลยี เป็นอย่างไรบ้าง

คุณธีระชัย : ตรงนี้เป็นจุดที่สำคัญที่สุดของเรา เรามีความจำเป็นจะต้องคุมค่าใช้จ่ายให้มันไม่มากเกินไป ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันเราก็จำเป็นจะต้องมีพนักงานที่เข้าใจในเนื้อเรื่องในการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลก เพราะฉะนั้นเราถึงได้จัดโปรแกรมที่เราเรียกว่า Change เรื่อยๆ มา สักประมาณ 6 เดือนแล้ว โดยเริ่มต้นเราพยายามถามตัวเองก่อนว่า เราจะจัดทัพของเราในงานแต่ละอย่างซึ่งเราต้องถามตัวเองว่าสิ่งแรกที่เราควรดูคือตรงไหน

***มองปัญหา และอุปสรรคใดบ้างที่ทำให้ตลาดทุนไทยไม่สามารถขับเคลื่อนไปได้เท่าที่ควร

คุณธีระชัย : ตลาดทุนวิ่งตามเศรษฐกิจ ต้องยอมรับว่าตลาดทุนไม่สามารถไปได้เร็วกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศได้ ตลาดทุนจะสะท้อนสภาพเศรษฐกิจของประเทศ ถ้าคนภายในประเทศเก่ง คิดอ่านอะไรเกี่ยวกับธุรกิจ มีความก้าวหน้า มีความพลิกแพลง แล้วสามารถจะแข่งกับชาวบ้านในโลกได้ดี มันสะท้อนมาที่ตลาดทุน ตลาดทุนก็จะมีบริษัท มีสินค้า มีอะไรต่างๆ มากมาย เพราะฉะนั้นโจทย์ที่จะแก้ไขตลาดทุนมันเป็นส่วนหนึ่งของการแก้กระบวนการของประเทศ ซึ่งอย่างน้อยถ้าดูในแง่ของตลาดทุนโดยรวมมันก็จะหนีไม่พ้นความพยายามปรับกระบวนการทำงานในตลาดทุน เพื่อให้บริการบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ในฐานะที่เราเป็นผู้กำกับดูแลคิดว่า สิ่งที่เราทำได้ดีที่สุดก็คือ พยายามอย่ายืนขวางในจุดที่เราไม่ควรไปยืนขวาง ควรถอยออกมา หรือยืนหลบไปหน่อย เพื่อที่จะเปิดโอกาสให้มีการเปลี่ยนแปลงให้มีการพัฒนามีการแข่งขันกันมากขึ้น นี่คงเป็นแนวที่เราดำเนินการ ผมขอเรียนย้ำว่า ผู้กำกับก็ทำได้แค่นี้ การที่ตลาดจะเบ่งบานมันจะก้าวหน้า มันขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ที่อยู่นอกเหนือเหล่านี้

***มองธรรมาภิบาล ของบริษัทไทยเป็นอย่างไร

คุณธีระชัย : ผมว่าดีขึ้นมาก ตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งสิ่งแรกที่ทำคือหันไปเน้นในด้านธรรมาภิบาล สำหรับบริษัทขนาดใหญ่ พบว่าเป็นที่ยอมรับทั้งในระดับอาเซียนและระดับสากล สิ่งที่เราต้องเน้นคือในระดับล่าง ถึงแม้ว่าในระดับล่างผลกระทบอาจจะไม่มาก อาจจะไม่กระทบนักลงทุนระดับสากล แต่ว่ามันสร้างชื่อไม่ดี เพราะฉะนั้นในเวลานี้เราก็จะมีบริษัทที่เราติดตามเรียกว่าเป็นเป้าที่เราคอย ด้อมๆ มองๆ คอยส่องกล้อง คอยดูใกล้ชิดอยู่จำนวนหนึ่ง ตั้งแต่เราเริ่มดำเนินการในเรื่องนี้จริงจัง เรามีความก้าวหน้าในเรื่องธรรมาภิบาลมากขึ้น แล้วตอนที่เรามีการประเมินโดยธนาคารโลก ผลก็ออกมาดี ผมว่าเวลานี้เรื่องธรรมาภิบาลเราสบายใจเยอะ

***สุดท้ายอยากให้ฝากอะไรกับนักลงทุนไทย

คุณธีระชัย : นักลงทุนในตลาดทุนไทย จากที่ผมได้เจอนักวิเคราะห์ต่างชาติเยอะ ทำให้คิดว่า เวลานี้หลายคนมองออกเลยว่า เศรษฐกิจของประเทศมหาอำนาจในโลกยังอยู่ในป่า ยังมองไม่ทะลุออกมา เพราะว่าหลายประเทศมีรัฐบาลเข้าไปโอบอุ้มสถาบันการเงิน เลยทำให้มีหนี้สินเยอะ พอมีหนี้เยอะงบประมาณแต่ละปีมันกลายเป็นค่าใช้จ่าย เพื่อที่จะใช้ในงบประมาณรายจ่ายประจำ เพราะฉะนั้นความน่าสนใจสำหรับการลงทุนในตลาดทุนในประเทศเหล่านั้นในเวลานี้ลดลงไปมาก

ขณะที่เรื่องขอบเขตการพัฒนาเศรษฐกิจ ในเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผมว่ายังมีศักยภาพอยู่มาก หลายคนเวลานี้มองแบบเดียวกัน ทำให้หนีไม่พ้นที่เงินทุนก็จะไหลเข้ามา นักลงทุนต่างประเทศก็จะสนใจ ผมคิดว่าในการวิเคราะห์อย่างนี้ นักลงทุนไทยควรเอาประเด็นดังกล่าวมาประกอบพิจารณา แต่ขณะเดียวกันก็ต้องติดตามความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด แล้วก็มีการใช้ข้อมูลจากคนที่มีความรู้ มีความเป็นมืออาชีพ เข้ามาใช้ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น